หน้าเว็บ

บทความที่ได้รับความนิยม

17 พฤศจิกายน 2554

ชีวิตที่พอเพียง

เอกสารประกอบการสอน
วิชาองค์รวมแห่งชีวิต

เรื่อง

ชีวิตที่พอเพียง
วันวร  จะนู*

วัตถุประสงค์
1.      เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.      เพื่อให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวันได้

           
เศรษฐกิจพอเพียง  เป็นหลักการในการใช้ชีวิตที่ครอบคลุมทุกด้าน  ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม  เศรษฐกิจพอเพียงมีขอบเขตความคิดมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นแกนหลักสำคัญ  โดยมีความคิดเห็นของนักคิดคนอื่น    เป็นประเด็นเสริม  ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกันความคิดที่เป็นแกนหลักสำคัญนั้น  
เป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะสรุปปรัชญาจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้มีความรัดกุมเพียงพอ  เนื่องจากได้มีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายครั้งในโอกาสต่าง    กัน  ทั้งพระราชดำรัสโดยตรง  และพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง  ทำให้มีการตีความในวงการต่าง    เหมือนกันบ้าง  แตกต่างกันบ้าง  อย่างไรก็ตาม  ก็ได้มีความพยายามที่จะประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสให้เป็นหลักการเดียวกัน  และเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  และได้รับพระกรุณาโปรดกล้า    พระราชทานให้เป็นหลักการที่เห็นร่วมกัน  เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ดังนี้






เศรษฐกิจพอเพียง  เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่  และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ  ตั้งแต่ระดับครอบครัว  ระดับชุมชน  จนถึงระดับรัฐ  ทั้งในการพัฒนาและบริหารให้ดำเนินไปใน  ทางสายกลาง  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกในยุคโลกาภิวัฒน์  ความพอเพียงหมายถึง  ความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร  ต่อการมีผลกระทบใด    อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน  ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้  ความรอบคอบ  และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง    มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอนและขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ  โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ  นักทฤษฎี  และนักธุรกิจในทุกระดับ  ให้มีสำนึกในคุณธรรม  ความซื่อสัตย์สุจริต  และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม  ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน  ความเพียร  มีสติ  ปัญญา  และความรอบคอบ  เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี 1

          1.  คำอธิบายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่เป็นสากลสำหรับสังคมไทย  กล่าวคือ  ใช้ได้สำหรับประชาชนทุกคน  ไม่ว่าคน    นั้นจะเป็นใคร  มีอาชีพอะไร  เกิดที่ไหน  ยากดีมีจนอย่างไร  ชายหรือหญิง  วัยไหน  จบการศึกษาอะไร  ระดับใด  นอกจากนั้นใช้ได้กับทุกหน่วยในสังคม  กล่าวคือ  ใช้ได้ทั้งระดับปัจเจกบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  จนถึงระดับรัฐ  เป็นต้น   
          จากปรัชญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แกนกลางของแนวคิดทั้งหมดคือ คำที่ว่าทางสายกลาง   
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงวางอยู่บนฐานความเชื่อเรื่องทางสายกลาง  ซึ่งการจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความพอเพียง  ความพอเพียงกับทางสายกลางเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่ไปด้วยกัน  หรืออาจกล่าวได้ว่าเกือบเป็นสิ่งเดียวกัน  ถ้าไม่มองกระบวนการปฏิบัติ
         

ความพอเพียงจะเกิดขึ้นได้  จะต้องทำให้คุณลักษณะสามประการเกิดขึ้นคือ
1.      ความพอประมาณ
2.      ความมีเหตุผล
3.      การมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี
ถ้าลักษณะสามประการดังกล่าวเกิดขึ้น  หมายความว่าความพอเพียงได้เกิดขึ้น  การจะทำให้เกิดลักษณะสามประการดังกล่าวได้จะต้องอาศัยคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1.      ความรอบรู้
2.      ความรอบคอบ
3.      ความระมัดระวัง
4.      สำนึกในคุณธรรม
5.      ความซื่อสัตย์สุจริต
6.      ความอดทน
7.      ความเพียร
8.      ความมีสติ
9.      ความมีปัญญา  เป็นต้น
คุณลักษณะ  9  ประการดังกล่าวสามารถสรุปเป็นสองส่วนด้วยกันคือ
1.      เรื่องของความรู้
2.      เรื่องของคุณธรรม
          ทั้งเรื่องของความรู้และคุณธรรมนั้นหมายถึง  การมีความรู้หรือใช้ความรู้และการมีคุณธรรมต่าง    โดยมีปรัชญาเรื่องทางสายกลางเป็นแก่นหลักนั้นเอง
          นอกจากนั้นเบื้องหลังของปรัชญาทางสายกลางดังกล่าว  ยังมีปรัชญาหรือความเชื่อในเรื่องโลกและความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย  กล่าวคือ  การที่ควรใช้ปรัชญาทางสายกลาง  เนื่องจากโลกและสังคมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  และในยุคโลกาภิวัฒน์ความเปลี่ยนแปลงยิ่งเพิ่มความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเชื่อว่าภายใต้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  ควรใช้ปรัชญาทางสายกลางในการดำเนินชีวิต
          ลักษณะความเชื่อดังกล่าวเป็นการกำหนดท่าที  (perspective  or  posture)  ในการมองโลกของมนุษย์  จริยธรรมของมนุษย์ล้วนเกิดมาจากท่าทีในการมองโลกทั้งสิ้น  พฤติกรรมของมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นลอย    แต่เกิดมาจากการกำหนดท่าทีระหว่างมนุษย์กับโลก  ดังเช่นสังคมที่มีจริยธรรมแบบลัทธิเต๋า  ที่มีความเชื่อว่าโลกมีลักษณะของสิ่งตรงกันข้าม  (หยิน-หยาง)  รวมอยู่ด้วยกัน  ท่าทีของมนุษย์ต้องกำหนดให้สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องโลก  กล่าวคือพฤติกรรมของมนุษย์ต้องมีความสมดุลระหว่างสิ่งตรงข้ามในเรื่องต่าง    ของชีวิต   เช่นเดียววิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความเชื่อเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลก  จึงกำหนอท่าทีในการกระทำ  โดยใช้ทางสายกลางดังกล่าว  นั้นก็หมายความว่าจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงเชื่อว่าทางสายกลางสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องโลกที่เปลี่ยนแปลงนั้นเอง
          การกำหนดท่าทีในความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องโลกดังกล่าว  ไม่จำเป็นต้องมีท่าทีเดียว  ขึ้นอยู่กับความเชื่อของสังคมนั้น      สมมุติว่ามีสังคมที่เชื่อว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน  แต่กำหนอท่าทีในความสัมพันธ์ตรงข้ามกับหลักการทางสายกลางก็ได้  เช่น  เข้าไปต่อสู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงให้มีความเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย  หรือยอมเคลื่อนไหวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงนั้นโดยไม่ต้องทำอะไรเลย  เป็นต้น
          ถามว่าทำไมควรใช้ปรัชญาทางสายกลางในการดำเนินชีวิต  คำตอบไม่ได้กล่าวไว้อย่างตรง    ในข้อความที่ได้กล่าวมา  แต่สามารถอนุมานและตีความได้จากข้อความบางข้อความ  เช่น  การทำให้เกิดสมดุลย์  การมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี  เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงต่าง    ทั้งจากภายนอกและภายใน  อย่างไรก็ตามได้มีความคิดอื่น    ได้กล่าวถึงเป้าหมายเอาไว้และมีความสอดคล้องกับข้อความ  เป้าหมายอันนั้นคือ  เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงหรือความยั่งยืน  ดังตัวอย่างต่อไปนี้


ในกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี  2541  ก็ทรงเสริมคำว่า  พอดี  เพราะเมื่อเรารู้ว่าจุดใดคือ  พอ  เมื่อนั้นเราจะเกิดความพอใจ  เมื่อรู้จักพอใจก็จะรู้จักพอประมาณ  เมื่อรู้จักพอประมาณก็จะรู้จักการให้  เมื่อรู้จักให้ก็เรื่มเกิดการแบ่งปัน  เกื้อกูลกัน  เกิดความสงบในสังคม  เกิดความเข็มแข็งในชุมชน  เกิดศักยภาพ  และท้ายที่สุดจะเกิดความมั่นคงและยั่งยืน2


          ในการสรุปผลการประชุมด้านการปฏิบัติการในด้านการพัฒนาการเกษตรและชนบท  ได้กล่าวไว้ว่า

เป้าหมายหรือหลักชัยของการพัฒนาเกษตรและชนบท  ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  คือ  การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน  และครอบครัวเกษตรกร  (ทุกคน  ทุกอาชีพในสังคม)  ซึ่งไม่ได้หมายถึงรายได้แต่เพียงอย่างเดียว  แต่รวมถึงด้านคุณภาพชีวิต  ซึ่งหมายถึงสุขภาพที่แข็งแรง  ครอบครัวที่อบอุ่น  ชุมชนเข้มแข็ง  ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายทางสังคมและการเมือง3

สรุปได้ว่า    ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นปรัชญาทางสายกลางในเรื่องต่าง   ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกเรื่อง  โดยมีเป้าหมายในด้านความมั่นคงและความยั่งยืนทั้งด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  เป็นต้น

2.  แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          การนำปรัชญาของจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม สามารถพิจารณาได้หลายด้านตามความเหมาะสม  เช่น  ด้านอาชีพ  ด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ  เป็นต้น  ในที่นี้จะพิจารณาด้านสังคม  หรือลักษณะหน่วยต่าง    ของสังคมเป็นหลัก  โดยสามารถแยกได้เป็นสามระดับ  ดังนี้
1.      ระดับครอบครัว
2.      ระดับสังคมหรือชุมชน
3.      ระดับรัฐ

การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่แนวปฏิบัติ  ประเด็นสำคัญไม่ว่าจะพิจารณาด้านไหนจะต้องไม่ขัดแย้งกันกับหลักปรัชญา  หรือต้องสอดคล้องกับหลักปรัชญา  ซึ่งในปัจจุบันได้มีนักวิชาการและผู้สนใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เสนอแนวปฏิบัติมาพอสมควร  ผู้เขียนคิดว่ามีบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับหลักปรัชญา  เนื่องจากการไม่ได้พิจารณาเป็นองค์รวมหรือควบคู่ไปกับหลักปรัชญาเป็นการพิจารณาแยกส่วน  ในที่นี้ผู้เขียนจะพิจารณาเฉพาะแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวปฏิบัติในลักษณะกว้าง    แต่ครอบคลุมทุกด้าน  เนื่องจากแนวปฏิบัตินั้นมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับมุมมองและการให้ความสำคัญ  นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับสถานที่และเวลาด้วย  สถานที่เปลี่ยนไป  เวลาที่เปลี่ยนไปจะทำให้แนวปฏิบัติต้องปรับเปลี่ยนไป  แต่หลักปรัชญาไม่เปลี่ยน  ดังนั้นการพิจารณาแนวปฏิบัติจึงต้องคำนึงถึงหลักปรัชญาเป็นประเด็นสำคัญ  ซึ่งผู้เขียนได้สรุปว่าประเด็นสำคัญของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือหลักทางสายกลาง  โดยมีความพอเพียงซึ่งทำได้โดยอาศัยความรู้กับคุณธรรมเป็นตัวทำให้เกิดขึ้น

1  แนวปฏิบัติระดับครอบครัว

แนวปฏิบัติระดับครอบครัวหมายถึง  สิ่งที่ครอบครัวควรปฏิบัติตามหลักปรัชญาของจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงทั้งด้านความรู้และคุณธรรม
1.  ครอบครัวควรมีสำนึกในจริยธรรม  โดยเฉพาะจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง  หรือที่สอดคล้องกัน  เช่น  มีความซื่อสัตย์ ความอดทน  ความเพียร  ความมีสติ  ปัญญา  ความเมตตา  กรุณา  เป็นต้น
2.  ครอบครัวควรแสวงหาความรู้  และอบรมสั่งสอนสมาชิกในครอบครัวให้มีความรู้และมีคุณธรรม  โดยเน้นลักษณะความรู้และคุณธรรมที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง
3.  ครอบครัวควรมีวินัยในการใช้จ่าย  เริ่มจากความจำเป็นพื้นฐานก่อนแล้วจึงจะขยายไปสู่ความจะเป็นด้านอื่น   
4.  ครอบครัวควรเคารพต่อกติกาและกฎหมายของสังคม  โดยไม่ขัดแย้งกับจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง
5.  ครอบครัวควรมีสำนึกและรับผิดชอบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม  เพราะความเชื่อเรื่องโลกที่มีความเปลี่ยนแปลง  ทำให้ต้องมีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิกฤติ  แต่ต้องให้มีความเปลี่ยนแปลงให้เกิดสมดุลต้องมนุษย์
          แนวปฏิบัติระดับครอบครัวดังกล่าวมีลักษณะเป็นองค์รวม  ต้องปฏิบัติประกอบกันไป  โดยให้มีความพอประมาณ  มีเหตุผลที่ดี  และมีภูมิคุ้มกันที่ดี  กล่าวคือภายใต้โลกและสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  การทำให้ครอบครัวมีความรู้เรื่องต่าง    ทั้งความรู้ที่เป็นข้อมูลต่าง    และความรู้เรื่องคุณธรรมจะทำให้ครอบครัวมีเหตุผลและมีสำนึกทางจริยธรรมตามมา  ซึ่งจะทำให้มีความพอประมาณ  การรู้จักการพอประมาณจะทำให้มีวินัยในการใช้จ่าย  การมีวินัยในการใช้จ่ายจะทำให้ครอบครัวมีภูมิคุ้มกันที่ดีทางเศรษฐกิจ  ประกอบกับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจะทำให้ครอบครัวมีภูมิคุ้มกันที่ดีในระบบชีวิตทั้งหมด

          2  แนวปฏิบัติระดับสังคม

แนวปฏิบัติระดับสังคมหมายถึง  สิ่งที่สังคมหรือชุมชนควรปฏิบัติตามหลักปรัชญาของ
จริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงทั้งด้านความรู้และคุณธรรม
          1.  สังคมควรร่วมมือกัน  เพื่อเรียนรู้  แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน  จะทำให้มีความรู้เรื่องต่าง    กว้างและลึกขึ้น  จะทำให้มีเหตุผลมากขึ้น  มีความรอบคอบ  ระมัดระวัง  มากขึ้นในการนำความรู้ต่าง    มาใช้
          2.  สังคมควรส่งเสริมให้จริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นบรรทัดฐานของสังคม               มีการให้รางวัลและการลงโทษที่เหมาะสมต่อสมาชิกของสังคมที่ปฏิบัติตามจริยธรรมดังกล่าว
          3.  สังคมควรจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์  เพื่อส่งเสริมให้มีการประหยัดและการออม  ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การเกิดกองทุนต่าง    ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทำให้สังคมมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  สามารถพึ่งพาตัวเองได้
          4.  สังคมที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ควรใช้แนวทางของเกษตรแบบทฤษฎีใหม่  โดยปรับใช้ตามความเหมาะสมของสถานที่  เพราะเกษตรทฤษฎีใหม่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง
          5.  สังคมที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมควรประกอบอาชีพโดยยึดหลักการทางสายกลาง  โดยมีการพอประมาณ  มีเหตุมีผล  โดยการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก  หมายถึงเริ่มต้นจากตัวเองทั้งด้านความรู้  ความสามารถ  ทรัพย์สินเงินทุน  และบริหารด้วยความรอบคอบระมัดระวัง  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสังคม
          6.  สังคมควรมีสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม  โดยมีเหตุผลเดียวกันกับแนวปฏิบัติระดับครอบครัว
          แนวปฏิบัติระดับสังคมดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากแนวปฏิบัติระดับครอบครัว  และมีลักษณะเป็นองค์รวมเช่นเดียวกับแนวปฏิบัติระดับครอบครัว  กล่าวคือภายใต้โลกและสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  การรวมตัวกันเรียนรู้  แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันจะทำให้สังคมมีเหตุผลในการใช้ความรู้ต่าง      นอกจากจะทำให้มีความรอบรู้มากขึ้นแล้ว  จะทำให้มีความระมัดระวัง  รอบคอบมากขึ้นด้วย  ประกอบกับการส่งเสริมจริยธรรมทำให้คนในสังคมเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง  จึงทำให้เกิดความพอประมาณ  นำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อสังคม

          3  แนวปฏิบัติระดับรัฐ

          แนวปฏิบัติระดับรัฐหมายถึง  สิ่งที่รัฐควรปฏิบัติตามหลักปรัชญาของจริยธรรมแบบเศรษฐกิจ  ทั้งในด้านความรู้และคุณธรรม
          หลักการที่สำคัญมีหลักการเดียวคือ
          รัฐควรส่งเสริม  สนับสนุนจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง  ให้เป็นนโยบายระดับชาติ  โดยควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
          1.  รัฐควรกำหนดหลักสูตรจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงในการศึกษาของชาติในระดับต่าง    ตามความเหมาะสม
          2.  รัฐควรส่งเสริม  สนับสนุนการพัฒนา  ประชาชนที่สนับสนุนและสนใจวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
          3.  รัฐควรส่งเสริม  สนับสนุน  สร้างองค์ความรู้  ที่สอดคล้องกับจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชน  เช่นจัดให้มีการศึกษาทดลองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดรูปธรรมในวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง  หรือการพัฒนาข้อมูลในเรื่องต่าง    และเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึง  ข้อมูลกับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน  เป็นต้น
          4.  รัฐควรมีกฎหมายที่ส่งเสริม  สนับสนุน หรือขัดแย้งกันกับจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง
          5.  รัฐควรจัดตั้งกองทุนต่าง    ที่จำเป็นต่อจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อส่งเสริม  สนับสนุนเงินทุน  ให้กับประชาชนที่ขาดเงินทุน  โดยมีสนใจและเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง 
6.  รัฐความกำหนดท่าทีในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เหมาะสมในด้านต่าง    โดยยึดหลักทางสายกลาง  มีเหตุผล  มีความพอประมาณ  เป็นต้น
7.  รัฐควรส่งเสริม  สนับสนุนให้ประชาชนมีสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม  โดยมีเหตุผลเดียวกันกับแนวปฏิบัติระดับครอบครัวและสังคม
แนวปฏิบัติระดับรัฐดังกล่าวก็เช่นเดียวกับแนวปฏิบัติระดับครอบครัวและสังคม  กล่าวคือต้องปฏิบัติในลักษณะเป็นองค์รวม  ซึ่งต้องยึดหลักให้มีความพอประมาณ  มีเหตุผล  และให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี  กล่าวคือภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมรัฐควรส่งเสริม  สนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้และมีคุณธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ประชาชนเข้าใจและเห็นความสำคัญที่จะดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง  และการส่งเสริม  สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และข้อมูลต่าง    ที่จำเป็นและเพียงพอต่อจริยธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ประชาชนมีความรอบรู้  และรู้จักการพอประมาณทำให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อรัฐ
แนวปฏิบัติทั้งสามระดับดังกล่าวจะต้องทำไปพร้อม    กัน  ไม่สามารถแยกออกจากกันได้  มีลักษณะเชื่อมโยงเป็นองค์รวมจึงจะประสบผลสำเร็จ













บรรณานุกรม

ภาษาไทย             

กระทรวงศึกษาธิการ.  ทฤษฎีใหม่ในหลวง  ชีวิตที่พอเพียง.  กรุงเทพมหานคร  :  สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน,  2542.
จอห์น  สจ๊วด  มิลล์    (John  stuart  mill) , on  Liberty .  แปลโดย  ภัทรพร  สิริกาญจน.  กรุงเทพมหานคร : คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ , 2530.
ชัชชัย  คุ้มทวีพร.  จริยว่าด้วยคุณธรรม”.   บทความประกอบการสัมมนา  เรื่อง  ปรัชญาปัจจุบัน.  จัดโดยสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย  วันที่  30  พฤษภาคม  -  1 มิถุนายน  2545    มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ.
เนื่องน้อย  บุณยเนตร.  จริยศาสตร์ตะวันตก :  ค้านท์  มิลล์  ฮอบส์  รอลส์  ซาร์ทร์.   กรุงเทพมหานคร    :  สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2539.
บุณธรรม  พูนทรัพย์.  ศีลธรรมกับสิทธิมนุษย์ชนในพุทธปรัชญาเถรวาท.  วิทยานิพนธ์ปรัชญามหาบัณฑิต  แผนกวิชาปรัชญา  บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกาณ์มหาวิทยาลัย,  2533.
ประชา  หุตานุวัตร.  พุทธศาสนากับความยุติธรรมทางสังคม.  กรุงเทพมหานคร  :  มูลนิธิโกมลคีมทอง,  2533.
ประเวศ  วะสี.  เศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคม.  กรุงเทพมหานคร  :  หมอชาวบ้าน,  2542.
พระธรรมปิฎก  (..  ปยุตโต).  เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ.  กรุงเทพมหาคร  :  มูลนิธิพุทธธรรม,  2333.
พระธรรมปิฎก,  (..  ประยุตโต).  พุทธธรรม.  พิมพ์ครั้งที่6.  กรุงเทพมหานคร  :  มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,  2538.
พระมหาอุทัย  ศรสวัสดิ์ . พุทธวิธีแห่งสังคม : ปรัชญาสังคมและการเมืองของพุทธศาสนา กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ธรรมสาร,  2538.
ราเฟล  ดี.  ดี. (Raphael  D.  D.). Maral  Philosophy. แปลโดย พรพิไล  ถมังรักษ์สัตว์  กรุงเทพมหานคร  :  คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,  2537
 วันวร  จะนู.  มโนทัศน์เรื่องความยุติธรรมในพุทธปรัชญาเถรวาท. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.  แผนกปรัชญา  บัณฑิตย์วิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2541.
วิฑูรย์  แก้วแก่น.  จริยศาสตร์คุณธรรม  :  ทางเลือกที่ควรจะเป็นของพุทธจริยศาสตร์เถรวาท.  วารสารอักษรศาสตร์พิจารณ์.  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  มกราคม,  2542.
วิทย์  วิศทเวทย์ , ปรัชญาทั่วไป.  พิมพ์ครั้งที่11.  กรุงเทพมหานคร  :  อักษรจริญทัศน์,
         ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

วิทย์  วิศทเวทย์.  จริยศาสตร์เบื้องต้น  :  มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม.  กรุงเทพมหานคร  : 
สมภาร  พรมทา.  มนุษย์กับการแสวงหา : ความจริงและความหมายของชีวิต กรุงเทพมหานคร  :  สำนักพิมพ์พุทธชาติ  ,2538.
สุรพศ  ทวีศักดิ์.  ปัญญาภาคปฏิบัติกับความเป็นเลิศทางจริยธรรมและการมีชีวิตที่ดีในทัศนะของอริสโตเติล”. วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต.  กันยายน-ธันวาคม,  2544.
เสน่ห์  จามริก.  พุทธศาสนากับสิทธิมนุษย์ชน.  กรุงเทพมหานคร  :  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์,  2531.
 เสรี  พงษ์พิศ  บรรณาธิการ.  ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชนบท  เล่ม  1  และ  2.  กรุงเทพมหานคร  :  มูลนิธิภูมิปัญญา,  2536. 
อภิชัย  พันธเสน.  พุทธเศรษฐศาสตร์.  กรุงเทพมหานคร  :  สำนักพิมพ์อมรินทร์,  2544.
อรสุดา  เจริญรัถ.  เศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย”,  เศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคม.  ชัยวัชน์  หน่อรัตน์  และคณะ  บรรณาธิการ.  กรุงเทพมหานคร  :  ฟ้าอภัย,  2545.
เอกสารประกอบการสัมมนา  เรื่อง  เศรษฐกิจพอเพียง.  จัดโดย Thailand  Develoment  Research  Institute  Foundation ( T.D.R.I )   โรงแรมแอมบาสเดอร์  ซิตี้  จอมเทียน,  วันที่  18-19  ธันวาคม  2542.
เอกสารประกอบการสัมมนา  เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง.  จัดโดย   คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ  สาขาเศรษฐศาสตร์    โรงแรมเซ็นทรัลแกรนด์พลาซา  ,  วันที่  16  กันยายน  2545

ภาษาอังกฤษ

Alderman, Harold. “By  Virtue  of  a  Virtue”.  In  Ethical  Theory.  Edit  by  Louis  Pojman.  Wadsworth,  1995.
Bentham,  Jeremy. Introduction to philosophy . Edited   by. John  Berry  and  michael Bratman.  New York  :  Oxford university press, 1986.
Halberstam, John .  Virtue  and  Values.  Prentic -Hall,  1988.
McDowell, John. “Virtue  and  Reason”.  In  Anti  -  Theory  in  Ethics  and  Moral  Conservatism. Edit  by  Clarke  and  Simpson.  State  University  of  New  York  Press,  1989.


* อาจารย์ประจำหมวดวิชาศึกษาทั่วไป  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
 โทร(02) 9547300  ต่อ 104  E-mail : littletree2546@yahoo.com
1 เอกสารประกอบการสัมมนา,  เศรษฐกิจพอเพียง,  จัดโดย Thailand  Develoment  Research  Institute  Foundation ( T.D.R.I )   โรงแรมแอมบาสเดอร์  ซิตี้  จอมเทียน,  18-19  ธันวาคม  2542,  หน้า  3.

2 อานันท์  ปันยารชุน,  คำกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี  2542  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง.  อ้างในเอกสารประกอบการสัมมนา,  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง,  หน้า4.

3 สรุปผลการประชุม กลุ่ม4  แนวปฏิบัติทางด้านการพัฒนาการเกษตรและชนบท,  เอกสารประกอบการสัมมนา  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง,  วันที่18-19  ธันวาคม  2542  โรงแรมแอมบาสเดอร์  ซิตี้  จอมเทียนพัทยา  .ชลบุรี,  หน้า  1-2.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น