หน้าเว็บ

บทความที่ได้รับความนิยม

29 มกราคม 2557

ตอนที่ 3 การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจุบันสถานการณ์ความมั่นคงของโลก และภูมิภาคต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อน รวดเร็ว และหลายหลาย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาชนและประเทศเป็นอย่างมาก จากพื้นที่ตามแนวชายแดน และพื้นที่ตอนในของประเทศ รวมทั้งพื้นที่ชายทะเล
อาทิ ปัญหาเส้นเขตแดน, ยาเสพติด, แรงงานเถื่อน,โรคระบาด, การก่อการร้ายสากลในรูปแบบต่าง ๆ,
ปัญหาการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,ปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ เป็นต้น อีกทั้งราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบกับการบริหารจัดการที่ขาดเอกภาพและการบูรณาการอย่างแท้จริง ทำให้ปัญหาทวีความขัดแย้งและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ในฐานะหน่วยงานกลางในการบูรณาการงานการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงของชาติที่วิกฤติสำคัญ จึงได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วนำมาจัดทำแผนบูรณาการโดยยึดหลัก “แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชเสวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ”รวมทั้งนโยบายความมั่นคงของรัฐ, แผนพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ พ.ศ.2555-2559,แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) และยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดน ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงให้มีเอกภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอยู่มากมายหลากหลายประเภทแตกต่างกันไปตามลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการนั้น ๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการทำมาหากินของประชาชนเป็นสำคัญ และดังที่ทราบกันดีว่าส่วนใหญ่ประชากรของประเทศไทย ยังชีพอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรม โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องการพัฒนาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น ดิน น้ำ ที่ทำกิน ทุน และความรู้ด้านเกษตรกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แนวคิดทฤษฎีในงานสาขาใดที่ได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนา หลักสำคัญของทุกเรื่อง คือ ความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ทั้งในแนวความคิดและเทคนิควิชาการ จะต้องสมเหตุสมผล ทำให้รวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหา ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ตลอดจนมุ่งไปสู่วิถีแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแยกเป็นกลุ่มงานได้ดังนี้.-
1.การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.1 ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ป่าสำหรับใช้สอย,ป่าสำหรับเป็นไม้ผล,ป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ประโยชน์ที่ได้รับจากป่า 3 อย่าง ก็ยังเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ และคงความชุ่มชื้นเอาไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดของการผสมผสานความต้องการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ เพื่อป้องกันมิให้เกษตรกรเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ แต่ให้ช่วยกันดูแลรักษ์
1.2 ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ทรงพระราทานแนวคิดว่าบางครั้งป่าไม้ก็จะเจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ขอเพียงอย่าเข้าไปรบกวนและทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากปล่อยไว้ตามสภาพชั่วระยะเวลาหนึ่ง ป่าไม้ก็จะสมบูรณ์ขึ้นเอง
1.3 ฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ทรงคิดค้นขึ้นเพื่อเป็นวิธีการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ประหยัด และได้ผลดี จากฝายเล็กๆ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยใช้วัสดุที่ง่ายในท้องถิ่น จะเป็นฝ่ายต้นน้ำลำธาร หรือฝายดักตะกอนดินและทราย รวมทั้งระบบวงจรน้ำที่อำนวยประโยชน์แก่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.4 ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวคิดและทฤษฎีในการแก้ปัญหาความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็มีน้ำใช้ตลอดปี เป็นการอำนวยประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เป็นนาข้าว พืชไร่พืชสวน สระน้ำ ที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ ตามสูตร 30-30-30-10
2. การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน
2.1 หลักการให้ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยตนเอง วิธีการนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากทรงเรียกกระบวนการนี้ว่า “การระเบิดจากข้างใน” คือ ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้กำหนดวิถีทางของตนเอง และพร้อมที่จะรับกระแสของการพัฒนาจากข้างนอกที่จะมีเข้ามาในอนาคต ด้วยการทำประชาพิจารณ์ อธิบายวัตถุประสงค์ และผลที่จะได้รับ ให้มีการรวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ ตกลงในผลประโยชน์ เสียสละ ตกลงใจ และยอมรับกติกาโดยเสียงเอกฉันท์ ร่วมกันดำเนินงาน/โครงการจนประสบผลสำเร็จร่วมกัน
2.2 การเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับของทุกฝ่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน และพัฒนาร่วมกันเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” สำหรับศึกษา วิจัย ทดลอง มีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ไม่ติดกับต้นสังกัด และเป็น “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ” เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ฯ หรือศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
2.3 การผสมผสานวัตถุประสงค์หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ตามภูมิสังคม นอกจากทางด้านเศรษฐกิจและการยกระดับรายได้ ยังปรากฏในเรื่องของการพัฒนาสังคม เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม ตลอดจนเรื่องสังคมจิตวิทยา วิถีชีวิตไทย ในลักษณะของสามประสาน หรือ บ – ว – ร บ้าน วัด และโรงเรียน/ราชการ
3. การพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน
3.1 การสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน ต้องกระทำในลักษณะผสมผสาน ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการจิตวิทยา มีข้อมูลพื้นที่ปฏิบัติการ รู้ปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชน มีการปฏิบัติงานร่วมกันทุกฝ่าย
3.2 ช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขา หรือพื้นที่สูง ให้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยไม่ต้องอพยพมายังพื้นราบ สามารถดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติมา ภายใต้การดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย และปฏิบัติตามกฎหมายไทย ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธาร และร่วมมือกับทางราชการช่วยเหลือด้านความมั่นคง
3.3 การจัดตั้งศูนย์บริการพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นแหล่งสะสมอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งมีอาหารหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ การปลูกและขยายพันธุ์พืชและสัตว์ นอกจากนั้นส่งเสริมศิลปาชีพ
ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ให้มีงานทำและรายได้ของครอบครัว
การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ก่อให้เกิดคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่การสงเคราะห์ช่วยเหลือ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรเป็นอเนกอนันต์มาโดยตลอดระยะเวลาที่ครองสิริราชสมบัติ แนวคิดและทฤษฎีที่ทรงคิดค้นขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถที่ล้ำลึกนั้น ไม่จำกัดลงเฉพาะเรื่องของการเกษตรกรรม เช่น น้ำ ดิน อากาศ และการเพาะปลูกเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องของการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนด้านการพัฒนาสังคมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย การสงเคราะห์ช่วยเหลือพสกนิกร โดยเฉพาะผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารนั้น ได้เสริมสร้างความมั่นคงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวม เป็นการแบ่งเบาภาระ ลดช่องว่าง และเสริมงานด้านการพัฒนาประเทศของรัฐบาลอย่างประสานสอดคล้องกัน