หน้าเว็บ

บทความที่ได้รับความนิยม

29 มกราคม 2557

ตอนที่ 3 การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจุบันสถานการณ์ความมั่นคงของโลก และภูมิภาคต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อน รวดเร็ว และหลายหลาย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาชนและประเทศเป็นอย่างมาก จากพื้นที่ตามแนวชายแดน และพื้นที่ตอนในของประเทศ รวมทั้งพื้นที่ชายทะเล
อาทิ ปัญหาเส้นเขตแดน, ยาเสพติด, แรงงานเถื่อน,โรคระบาด, การก่อการร้ายสากลในรูปแบบต่าง ๆ,
ปัญหาการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,ปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ เป็นต้น อีกทั้งราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบกับการบริหารจัดการที่ขาดเอกภาพและการบูรณาการอย่างแท้จริง ทำให้ปัญหาทวีความขัดแย้งและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ในฐานะหน่วยงานกลางในการบูรณาการงานการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงของชาติที่วิกฤติสำคัญ จึงได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วนำมาจัดทำแผนบูรณาการโดยยึดหลัก “แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชเสวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ”รวมทั้งนโยบายความมั่นคงของรัฐ, แผนพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ พ.ศ.2555-2559,แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) และยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดน ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงให้มีเอกภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอยู่มากมายหลากหลายประเภทแตกต่างกันไปตามลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการนั้น ๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการทำมาหากินของประชาชนเป็นสำคัญ และดังที่ทราบกันดีว่าส่วนใหญ่ประชากรของประเทศไทย ยังชีพอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรม โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องการพัฒนาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น ดิน น้ำ ที่ทำกิน ทุน และความรู้ด้านเกษตรกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แนวคิดทฤษฎีในงานสาขาใดที่ได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนา หลักสำคัญของทุกเรื่อง คือ ความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ทั้งในแนวความคิดและเทคนิควิชาการ จะต้องสมเหตุสมผล ทำให้รวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหา ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ตลอดจนมุ่งไปสู่วิถีแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแยกเป็นกลุ่มงานได้ดังนี้.-
1.การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.1 ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ป่าสำหรับใช้สอย,ป่าสำหรับเป็นไม้ผล,ป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ประโยชน์ที่ได้รับจากป่า 3 อย่าง ก็ยังเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ และคงความชุ่มชื้นเอาไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดของการผสมผสานความต้องการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ เพื่อป้องกันมิให้เกษตรกรเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ แต่ให้ช่วยกันดูแลรักษ์
1.2 ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ทรงพระราทานแนวคิดว่าบางครั้งป่าไม้ก็จะเจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ขอเพียงอย่าเข้าไปรบกวนและทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากปล่อยไว้ตามสภาพชั่วระยะเวลาหนึ่ง ป่าไม้ก็จะสมบูรณ์ขึ้นเอง
1.3 ฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ทรงคิดค้นขึ้นเพื่อเป็นวิธีการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ประหยัด และได้ผลดี จากฝายเล็กๆ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยใช้วัสดุที่ง่ายในท้องถิ่น จะเป็นฝ่ายต้นน้ำลำธาร หรือฝายดักตะกอนดินและทราย รวมทั้งระบบวงจรน้ำที่อำนวยประโยชน์แก่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.4 ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวคิดและทฤษฎีในการแก้ปัญหาความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็มีน้ำใช้ตลอดปี เป็นการอำนวยประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เป็นนาข้าว พืชไร่พืชสวน สระน้ำ ที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ ตามสูตร 30-30-30-10
2. การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน
2.1 หลักการให้ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยตนเอง วิธีการนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากทรงเรียกกระบวนการนี้ว่า “การระเบิดจากข้างใน” คือ ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้กำหนดวิถีทางของตนเอง และพร้อมที่จะรับกระแสของการพัฒนาจากข้างนอกที่จะมีเข้ามาในอนาคต ด้วยการทำประชาพิจารณ์ อธิบายวัตถุประสงค์ และผลที่จะได้รับ ให้มีการรวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ ตกลงในผลประโยชน์ เสียสละ ตกลงใจ และยอมรับกติกาโดยเสียงเอกฉันท์ ร่วมกันดำเนินงาน/โครงการจนประสบผลสำเร็จร่วมกัน
2.2 การเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับของทุกฝ่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน และพัฒนาร่วมกันเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” สำหรับศึกษา วิจัย ทดลอง มีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ไม่ติดกับต้นสังกัด และเป็น “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ” เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ฯ หรือศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
2.3 การผสมผสานวัตถุประสงค์หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ตามภูมิสังคม นอกจากทางด้านเศรษฐกิจและการยกระดับรายได้ ยังปรากฏในเรื่องของการพัฒนาสังคม เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม ตลอดจนเรื่องสังคมจิตวิทยา วิถีชีวิตไทย ในลักษณะของสามประสาน หรือ บ – ว – ร บ้าน วัด และโรงเรียน/ราชการ
3. การพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน
3.1 การสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน ต้องกระทำในลักษณะผสมผสาน ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการจิตวิทยา มีข้อมูลพื้นที่ปฏิบัติการ รู้ปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชน มีการปฏิบัติงานร่วมกันทุกฝ่าย
3.2 ช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขา หรือพื้นที่สูง ให้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยไม่ต้องอพยพมายังพื้นราบ สามารถดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติมา ภายใต้การดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย และปฏิบัติตามกฎหมายไทย ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธาร และร่วมมือกับทางราชการช่วยเหลือด้านความมั่นคง
3.3 การจัดตั้งศูนย์บริการพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นแหล่งสะสมอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งมีอาหารหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ การปลูกและขยายพันธุ์พืชและสัตว์ นอกจากนั้นส่งเสริมศิลปาชีพ
ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ให้มีงานทำและรายได้ของครอบครัว
การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ก่อให้เกิดคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่การสงเคราะห์ช่วยเหลือ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรเป็นอเนกอนันต์มาโดยตลอดระยะเวลาที่ครองสิริราชสมบัติ แนวคิดและทฤษฎีที่ทรงคิดค้นขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถที่ล้ำลึกนั้น ไม่จำกัดลงเฉพาะเรื่องของการเกษตรกรรม เช่น น้ำ ดิน อากาศ และการเพาะปลูกเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องของการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนด้านการพัฒนาสังคมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย การสงเคราะห์ช่วยเหลือพสกนิกร โดยเฉพาะผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารนั้น ได้เสริมสร้างความมั่นคงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวม เป็นการแบ่งเบาภาระ ลดช่องว่าง และเสริมงานด้านการพัฒนาประเทศของรัฐบาลอย่างประสานสอดคล้องกัน

11 พฤศจิกายน 2556

เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความมั่นคง ตอนที่ 2 หลักการทรงงาน...ศาสตร์พระราชา

ตอนที่ 2 หลักการทรงงาน...ศาสตร์พระราชา


หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วกันแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรและพระราชอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาต่าง ๆ ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ภาพพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัตินับตั้งแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติในปี 2489 แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทั้งแผ่นดินได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายตรากตรำและมุ่งมั่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกรไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด หรืออยู่ห่างไกลสักเพียงใด ก็มิได้ทรงย่อท้อ เข้าไปช่วยเหลือราษฎรทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเกษตร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และพลังงาน หรือแม้กระทั่งการจราจร ก็ทรงคิดค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างแยบยล
การทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัว และสามารถปฏิบัติได้จริง ทรงมีความละเอียดรอบคอบและทรงคิดค้นหาแนวทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด มีคุณค่า และควรยึดเป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาล นำมาปฏิบัติเพื่อให้บังเกิดผลต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติตลอดไป
หลักการทรงงาน
ข้อที่ 1 จะทำอะไรต้องศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ
อดีตทำอะไรมาบ้าง ทั้งเอกสาร สอบถามเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เช่นงานยาเสพติด ต้องดูข้อมูลให้ลึกซึ้ง ทำไมทำงานไม่สำเร็จ ต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งการพูดคุย การดูตัวเลข แต่อย่าให้ตัวเลขมาหลอกเราได้ ผู้ยิ่งใหญ่เห็นแต่ภาพสวยหรู แท้ที่จริงเละตุ้มเป๊ะ แม้ทำไม่ได้มีปัญหาตัวเลข ก็สวยหรู เพราะมีการคาดโทษ ต้องยอมรับความจริงก่อน แล้วลงมือแก้ไข
ข้อที่ 2 ระเบิดจากภายใน
สร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดความเข้าใจ และอยากทำมิใช่สั่งให้ทำ คนไม่เข้าใจจะไม่ทำ แยกให้ออกระหว่างคุณค่า กับมูลค่า ว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงควรทำ
ข้อที่ 3 แก้ปัญหาจากจุดเล็ก
มองภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ไม่เริ่มทีเดียวใหญ่ ๆ
และควรมองในสิ่งที่มักจะมองข้าม ถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก ให้คิดแก้ปวดหัวก่อน เป็นคำพูดที่ฟังดูตลก แต่ลึกซึ้ง คิดใหญ่ทำเล็ก คิดกว้างทำแคบ คิดละเอียดทำหยาบ ลงมือทำในจุดเล็กๆ ก่อน สำเร็จแล้วจึงค่อยขยาย มิใช่สั่งทำพร้อมกันทั่วประเทศ ดูดี แต่ลงทุนสูงได้ผลน้อย ในที่สุดทุกคนก็จะหมดแรง เพราะมีแต่คนสั่งคนทำมีอยู่ไม่กี่คน


ข้อที่ 4 ทำตามลำดับขั้น
เริ่มทำจากความจำเป็นก่อน สิ่งที่ขาดคือสิ่งที่จำเป็น เช่น ประชาชนต้องแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพก่อน จากนั้นก็ไปแก้ที่สาธารณูปโภค แล้วต่อด้วยการประกอบอาชีพ ถ้าทำเป็นขั้นเป็นตอน ก็จะทำให้สำเร็จได้ง่าย เช่น งานยาเสพติดรักษา --> ส่งเสริม --> ฟื้นฟู -->กลับอยู่ในสังคมปกติ เป็นคนดีของชาติ
ข้อที่ 5 ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์
การทำงานทุกอย่าง ต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ว่า อยู่แถบไหน อากาศเป็นอย่างไร ติดชายแดน ติดทะเล และสังคมของเราเป็นอย่างไร นับถือศาสนาอะไร คนนิสัยใจคอเป็นอย่างไร รวมไปถึงพวกเรากันเองด้วย ถ้าไม่รู้เขารู้เราจะรบชนะได้อย่างไร สั่งทำโครงการทั่วประเทศไม่ได้ ต้องดูเฉพาะพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขออกแบบสถานีอนามัยเหมือนกันทั่วประเทศ บางครั้งก็ไม่ดีนัก
ข้อที่ 6 ทำงานแบบองค์รวม
โดยคิดความเชื่อมโยง ทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง
องค์รวม <-------------> ครบวงจร เชื่อมโยง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เป็นคำพูดที่ฟังแล้วโอเวอร์ไปหน่อย แต่ก็จริง ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวพันกัน แยกออกจากกันโดยเด็ดขาดมิได้
ข้อที่ 7 ไม่ติดตำรา
ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด บางครั้งเรายึดทฤษฎีจนเกินไปทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่เราทำ
บางครั้งต้องโอบอ้อมต่อสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม จิตวิทยาด้วย
ข้อที่ 8 ประหยัด
เรื่องง่ายได้ประโยชน์สูงสุด ทำได้เอง หาได้เองในท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีเรียบง่าย เช่น ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ขึ้นเอง บางครั้งมีพิธีกรรมใหญ่โตผู้ยิ่งใหญ่ทำพิธีปลูกป่า โดยนำรถไถไปไถที่ให้เรียบเพื่อปลูกป่า โดยทำลายต้นไม้ไปมากมาย น่าตลก เรื่องเช่นนี้ยังมีในสังคมไทยมากมาย กรอบแนวคิด Input ----> Process ----> Output ประหยัด เรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด
ข้อที่ 9 ทำให้ง่าย
ทำอะไรให้ง่ายๆ ทำให้ชีวิตง่าย โปรดรับสั่งทำสิ่งยากๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ง่ายๆ นักข่าวชาวฝรั่งเศสถามพระองค์ว่า พระองค์ทรงงานแบบใด ท่านตรัสตอบเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า
“ซิมปลีฟีเย่” ซึ่งภาษาอังกฤษแปลว่า ซิมพลีฟาย(simplify) ภาษาไทยแปลว่า ทำให้ง่าย คนส่วนใหญ่ชวนทำสิ่งง่ายๆ ให้เป็นสิ่งยากๆ ผมบอกเจ้าหน้าที่งานยาเสพติดว่า ถ้าใครโทรศัพท์มาของความช่วยเหลือ ให้ถามเขาคำแรกว่า “คุณจะให้ผมไปหาคุณหรือคุณจะมาหาผมเดี๋ยวนี้”
ข้อที่ 10 การมีส่วนร่วม
เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น หัดทำใจให้หนักแน่น รับฟังความคิดเห็นการรับฟังคือ การเก็บความคิด เราจะประมวลความคิดเพื่อมาใช้ประโยชน์

ข้อ 11 ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม
จากพระราชดำรัส ใครต่อใครชอบบอกให้นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม ให้ส่วนรวมคือการช่วยตัวเองด้วย เพราะเมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์ เราเองก็ได้ประโยชน์ การช่วยกันแก้ปัญหายาเสพติด ส่วนรวมได้ประโยชน์ ลูกหลานเราก็ปลอดภัยจากยาเสพติดด้วยประเทศชาติ อยู่ไม่ได้ อย่าหวังเลยว่าเราจะอยู่ได้
ข้อที่ 12 บริการที่จุดเดียว
วันนี้เราพูด วันสต๊อปเซอร์วิส แต่ในหลวงตรัสไว้เกิน20ปีมาแล้ว ศูนย์ศึกษาพัฒนา 6แห่ง
ทั่วประเทศให้บริการจุดเดียวมากกว่า 20 ปี ใครทันสมัยกันแน่
ข้อที่ 13 ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
มองธรรมชาติให้ออก กักน้ำตามลำธารช่วยให้ป่าสมบูรณ์ช่วยให้ชาวเขามีอาชีพ
เราก็จะลดปัญหายาเสพติดลงไปการช่วยดูแลผู้ติดยา เขาจะไม่กลับไปเสพซ้ำและสามารถกลับมาช่วยเราอีกแรง ทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นอยู่แบบสมดุล ซึ่งการจะมองปัญหาออกต้องมีใจว่าง ไม่ลำเอียงต้องมีจิตอันพิสุทธิ์
ข้อที่ 14 ใช้อธรรมปราบอธรรม
เอาผักตบชวาที่เป็นปัญหาของเราในประเทศ มากำจัดน้ำเสียเอาปัญหามาช่วยขจัดปัญหา เอาปัญหายาเสพติด มาช่วยพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของคนไทยกันดีกว่าแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองควรจะเฟื่องฟูได้แล้ว
ข้อที่ 15 ปลูกป่าในใจคน
ต้องปลูกป่าที่จิตสำนึกก่อน ต้องให้เห็นคุณค่าก่อนที่จะลงมือทำการดูแลปัญหายาเสพติด ถ้าคนทำหน้าที่นี้ยังทำเพราะเป็นหน้าที่ งานสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าทำด้วยความดีใจที่ได้ช่วยลูกเขาให้กลับคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่ได้เพียงหนึ่งคน ซึ่งคุ้มค่ากว่าได้เงินทองเป็นล้าน แสดงว่าพลังต่อสู้กับยาเสพติดได้เกิดขึ้นในใจของท่านแล้ว จงปลุกสิงโตทองคำในหัวใจให้ตื่นขึ้นมาให้ได้ก่อน
ข้อที่ 16 ขาดทุนคือกำไร
อย่ามองที่กำไรขาดทุนที่เป็นตัวเงินมากจนเกินไป บางครั้งเราได้กำไรจากการขาดทุน ลงทุนมหาศาล ได้ธรรมชาติกลับคืนมา ลงทุนมหาศาลลูกคืนมา ลงทุนมหาศาล ได้คนดีๆ กลับมา ลงทุนมหาศาล ได้ความรู้ไว้คอยช่วยเหลือ
ข้อที่ 17 การพึ่งตนเอง
ในหลวงทรงสอนให้พวกเราพึ่งตนเอง เพราสังคมบริโภคจะเป็นทาสของผู้ผลิต การพึ่งตนเองได้ทำให้ไม่ต้องเป็นทาสใคร เมื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วพยายามพึ่งตนเองให้ได้
ข้อที่ 18 พออยู่พอกิน
พออยู่พอกินก่อน แล้วค่อยพัฒนาเราขอให้บำบัดให้ได้ก่อน==> ประคับประคอง==>
เป็นที่ปรึกษา==>เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
ข้อที่ 19 เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นแนวทางการต่อสู้ รับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก การจัดการกับปัญหายาเสพติด ต้องคำนึงถึงเรื่องความพอดีให้ดีโดยอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ข้อที่ 20 ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน
คนที่มีความรู้มาก แต่โกง สู้คนที่ไม่เก่ง แต่ดีไม่ได้ วีรบุรุษ วีรสตรี คือคุณธรรม ที่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น พวกเราที่ทำงานยาเสพติด คือ วีรบุรุษ วีรสตรีผู้หนึ่ง
ข้อที่ 21 ทำงานอย่างมีความสุข
“ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ ฉันมีแต่ความสุขที่ร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น”ทำอะไรต้องมีความสุขด้วย เพราะศึกครั้งนี้ยาวนาน ถ้าเราทำอย่างไม่มีความสุข จะแพ้แต่ถ้าเรามี ความสุข เราจะชนะ เพียงแต่คนทำงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีความสุข สนุกกับการทำงานเพียงเท่านั้น ถือว่าเราชนะแล้ว
ข้อที่ 22 ความเพียร
กว่า 60 ปีที่ทรงงาน ในหลวงไม่เคยทรงท้อถอย ไม่มีการลาพักร้อนหยุดงานสัก
เวลาเดียว
ข้อที่ 23 รู้ รัก สามัคคี
คิดเพื่องาน
รู้ = ต้องรู้ปัจจัย รู้ปัญหา รู้ทางออก ของปัญหา
รัก = เมื่อรู้แล้ว ต้องเกิดความอยากในทางที่ดีก่อนคือฉันทะเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ภูมิใจ อยากทำ
สามัคคี = ลงมือปฏิบัติ ต้องร่วมมือเพื่อเกิดพลังแยกกันไร้ค่ารวมกันไร้เทียม
คิดเพื่อตัวเราเอง
รู้ = รู้จักทุกคนทั้งหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัวทำอย่างไร จึงจะรู้จักให้ดีได้ รู้จุดอ่อน จุดแข็งโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา
รัก = เน้นความดี ใส่ใจกันและกันมองกันในแง่ดี
สามัคคี = จึงจะเกิด
ศาสตร์พระราชา
ศาสตร์พระราชา หมายถึงวิชาความรู้ของพระมหากษัตริย์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านด้านการเกษตร จึงขอขยายความเป็น ๔ ศาสตร์ดังนี้.-
ศาสตร์ที่ 1 เรื่อง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดังนี้.-
1.ไม้พอกิน หมายถึง ปลูกพืชเกษตรเพื่อการกินและสมุนไพร
2.ไม้พอใช้สอย หมายถึง ปลูกไม้ไว้ใช้สอยโดยตรงและพลังงาน เช่น ฟืน และไม้ไผ่
3. ไม้พออยู่(ไม้เศรษฐกิจ) หมายถึง ไม้เศรษฐกิจปลูกไว้ทำที่อยู่อาศัยและจำหน่าย

ประโยชน์ 4 อย่าง
1.ไม้พอกิน นำมาเป็นอาหารและยารักษาโรค
2. ไม้ใช้สอย นำมาทำเป็นหัตถกรรม
3. ไม้พออยู่(ไม้เศรษฐกิจ) นำมาสร้างบ้างและจำหน่าย
4. ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ
ประยุกต์เป็นไม้ 7 ระดับ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสมดุลดังนี้.-
1.ไม้ชั้นบน หรือพืชยืนต้น เช่น สักทอง ตะเคียน ยางนา ประดู่ป่า พยุง เป็นต้น
2. ไม้ชั้นกลาง หรือพืชยืนต้น เช่น มะพร้าว ตะแบก เทพทาโร ยมหอม เป็นต้น
3. ไม้ชั้นล่าง หรือพืชยืนต้น เช่น มะนาว มะกรูด ไผ่ (ผลไม้ทุกชนิด)
4. ไม้หน้าดิน หรือพืชหน้าดิน เช่น พืชผักสวนครัว สมุนไพร ไม้ขุดและไม้ล้อม
5. ไม้หัว หรือพืชหน้าดิน เช่น มันฝรั่ง ขมิ้นชัน ขิง ข่า เป็นต้น
6. ไม้เถา หรือพืชเกาะเกี่ยว เช่น ตำลึง กล้วยไม้ อัญชัน เป็นต้น
7. ไม้น้ำ หรือพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ผักกระเชด สายบัว เป็นต้น
ศาสตร์ที่ 2 การเกษตรทฤษฎีใหม่
จากเศรษฐกิจพอเพียงความพออยู่ พอกิน พอใช้ นำไปสู่การพัฒนาขั้นก้าวหน้า ซึ่งสามารถต่อยอดมาสู่การกำหนดราชาพืชได้ และสามารถจัดการระบบตลาดได้ด้วยเกษตรเพียงคนเดียว เกษตรกรก็จะพ้นจากความยากจนเพราะจัดการอย่างสมดุลในแปลงโดยปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์พอดีกัน ทำให้กลไกทางการตลาดขับเคลื่อนจากหน่วยเล็กไปจนถึงระบบใหญ่ ทำให้ค่า GDP ภายในประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย หมดปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ศาสตร์ที่ 3 ศาสตร์แก้มลิง หรือการเก็บกักน้ำ
สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม และยังบริหารจัดการน้ำสำรองไว้ในฤดูแล้งได้อย่างถาวรในพื้นที่ของตนเอง และสามารถเกิดโครงการธนาคารน้ำและธนาคารดินในพื้นที่ได้ สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีแม่น้ำลำคลอง ก็ทำแก้มลิงด้วยการขุดสระในพื้นที่เกษตรกรเก็บน้ำประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่
ศาสตร์ที่ 4 ศาสตร์แกล้งดิน
จากการแกล้งดินด้วยการใช้ปูนมาร์ล ปูนขาว หรือปูนใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาดินเปลี้ยว ดินเค็ม
ก็ประยุกต์ใช้อินทรียวัตถุ (มูลสัตว์ ฟางข้าว เศษพืช) และจุลินทรีย์ เข้าไปแก้ปัญหาดิน น้ำ และการปลูกพืช
รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย เมื่อสภาพดินมีความสมบูรณ์ก็จะเป็นแหล่งผลิตอาหารอันยิ่งใหญ่

---------------------------

ข้อมูลจาก ...สำนักงานคณะกรรมพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมดุลและการพึ่งพาตนเอง “สวนธงไชย ไร่ทักสม” เรื่อง ศาสตร์
พระราชากับการเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถแก้ไขความยากจนได้อย่างยั่งยืน

8 ตุลาคม 2556

เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความมั่นคง
ตอนที่ 1 ปฐมบทเศรษฐกิจพอเพียง
           “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗)
จุดเริ่มต้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

           ผลจากการใช้แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงมีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะอธิบายในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน สำหรับผลของการพัฒนาในด้านบวกนั้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่างๆ        ระบบสื่อสารที่ทันสมัย หรือการขยายปริมาณและกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ผลด้านบวกเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายไปถึงคนในชนบท หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมน้อย แต่ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดผลลบติดตามมาด้วย เช่น การขยายตัวของรัฐเข้าไปในชนบท ได้ส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งการต้องพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมแตกสลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่มสูญหายไป สิ่งสำคัญ ก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้องการต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ต้องถูกกระทบกระเทือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่และปัญหาความอ่อนแอของชนบท รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันปรากฎการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

 พระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง 

         “
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า ๓๐ ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี สติ ปัญญา และความเพียร ซึ่งจะนำไปสู่ ความสุข ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
          “...
คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)
                พระบรมราโชวาทนี้ ทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ซึ่งหมายถึง แทนที่จะเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนำการพัฒนาประเทศ ควรที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพื้นฐานก่อน นั่นคือ ทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่พอมีพอกินก่อน เป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป
          
ทรงเตือนเรื่องพออยู่พอกิน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ คือ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้วแต่ทิศทางการพัฒนามิได้เปลี่ยนแปลง 
           “...
เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...” (๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)
เศรษฐกิจพอเพียง 
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
                  
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้ 
๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
        โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ  ดังนี้
๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลจาก...มูลนิธิชัยพัฒนา
จัดทำโดย   ฝ่ายเสริมสร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนกิจการพัฒนา สมท.กอ.รมน.   โทร.02-2448583

พ.ท.บรรเทิง   แสงดอกไม้      โทร.089-0597623    facebook/บรรเทิง แสงดอกไม้

11 มิถุนายน 2556

ขอเชิญร่วมโครงการอุปสมบทหมู่เข้าพรรษา 100,000 รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไป 2556

“เกิดเป็นลูกผู้ชาย  ต้องบวชให้ได้อย่างน้อย 1 พรรษา”    “บวชให้แม่หน้าฝน   ดีกว่าบวชให้แม่
หน้าไฟ”  ...โครงการอุปสมบทหมู่ เข้าพรรษา 100,000 รูป  ทุกหมู่บ้านทั่วไทย 2556 (ทำพระนิพพานให้แจ้ง)
ณ    วัดศูนย์อบรมประจำอำเภอทั่วประเทศ  ตั้งแต่ 4 กรกฎาคม – 4 พฤศจิกายน 2556    สอบถามรายละเอียดได้ที่
 โทร.02-8311234

เชิญร่วมงานวันสถาปนากรมชลประทาน ปีที่ 111 ระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2556

วันที่ 12-14 มิถุนายน 2556 เวลา 0930-1600  ณ  Hanger  Pavilion  กรมชลประทาน สามเสน กทม. จัดงานวันสถาปนากรมชลประทาน ปีที่ 111   มีกิจกรรมการเสวนาวิชาการ นิทรรศการ การบริหารจัดการน้ำในอนาคต   เกษตรแนวใหม่  “เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว”   องค์กรแห่งนวัตกรรม  และกิจกรรมเรียนรู้กับยุวชลกร “การถ่ายโอนความรู้สู่ต้นกล้าแห่งอนาคต”   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมชลประทาน  โทร.02-2436974