หน้าเว็บ

บทความที่ได้รับความนิยม

17 มกราคม 2555

การปลูกข้าวนาปรัง โดย...อจ.สุมาลิน ทองแสน

มหัศจรรย์จุลินทรีย์อีเอ็มกับการปลูกข้าวมะลินาปรังในภาคอีสาน
สุมาริน  ทองแสน 
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ
              “ ข้าว”   กับคุณค่าที่มีมากกว่าคำว่า  “ อิ่มท้อง” จากคำทักทายของคนไทยที่ว่า  ทานข้าวหรือยัง ? หรือว่าวันนี้จะกินข้าวกับอะไร  หรือภาษาอีสานจะเอ่ยว่า... จั่กมื้อนี้สิกินข้าวกับหยั่ง ?  มันก้องอยู่ในหูผู้เขียน  เพราะคนไทยจะทักทายแขกที่มาเยี่ยม หรือญาติพี่น้องที่เป็นคนไทยในเรื่องข้าวจนติดมาตั้งแต่เด็กและจำความได้ ผู้ถูกทัก และผู้โดนทักนั่นคือคนไทย ร้อยเปอร์เซ็น เป็นคำถามที่บอกถึงความห่วงใยแล้วยังบ่งบอกว่า “ข้าว” คือวิถีชีวิตคู่สังคมไทยมานานตั้งแต่บรรพกาล และเป็นอาหารหลักที่คนไทยขาดไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ แม้วิทยาการจะเจริญก้าวหน้าไปขนาดไหนแต่ “ ข้าว “ ยังเป็นปัจจัยสำคัญไม่มีเปลี่ยนแปลง ในต่างประเทศมีแต่คหบดีเศรษฐีเท่านั้นจึงจะได้ทานข้าวที่กลิ่นหอมกลุ่นในจาน ไปคนธรรมดาในญี่ปุ่น ใต้หวัน ฮ่องกง จะได้ลิ้มลองข้าวขาว ๆ อร่อยไม่ได้มีโอกาสบ่อยนัก เพราะที่นั่นข้าวหอมมะลิบ้านเราข้าวสารกิโลกรัมละไม่กี่บาท ไปถึงต่างประเทศตกกิโลกรัมละ 1,500 บาท  ในขณะที่ชาวนาไทยขายข้าวเปลือกได้กิโลกรัมละสิบบาทเท่านั้นเอง...แต่อย่าน้อยเนื้อต่ำใจไปเลย พี่น้อยเกษตรกรที่ทำนา เราได้กินข้าวหอม ๆ อร่อยเป็นอาหารหลักจึงเทียบเท่ากับการกินของเศรษฐีในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ข้าวคืออาหารสมุนไพร
              คุณรู้หรือไม่ว่าข้าวมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน นอกจากเป็นอาหารหลักของการดำเนินชีวิตแล้ว ข้าวยังมีประโยชน์ทางด้าน เภสัชอีกมากมายทั้งด้านการป้องกันโรคโดยเฉพาะโรคร้ายๆ ข้าวเป็นสารอินทรีย์สมุนไพรที่ผลิตสารต้านอนุมูลอิสระในกับร่างกาย   เช่น  ป้องกันโรคมะเร็งเต้านม  ป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว  ความดันโลหิตสูง สิ่งที่กล่าวมานั้นคือข้าวที่ผลิตโดยวิธีปลอดภัยจากสารพิษ สารเคมีที่เน้นธรรมชาติในการก่อเกิด อินทรีย์สารให้เกิดขึ้นในเมล็ดข้าวให้ความอุดมสมบูรณ์ในเมล็ดข้าวเป็นไปโดยธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
ข้าวมะลินา 105 กับข้าวนาปรัง
ผู้เขียนสนใจในเรื่องการปลูกข้าว  โดยฉะเพราะวิธีการปลูกข้าว แบบนาดำ , นาหว่าน  , นาตม หรือแบบโยนกล้าในปัจจุบัน  ในปี 2543 ในเขตพื้นที่ ที่ผู้เขียนอยู่ได้เริ่มมีการทำนาปรัง เพราะมี แหล่งน้ำชลประทานไหลผ่าน หลายพื้นที่เจ้าของที่นาไม่ทำเกษตรกรก็เช่าที่ดินกันทำ และก็ทำแบบตามความคิดของตนเอง โดยการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวนาปี เป็นพันธุ์ข้าว มะลิ กข. 105 และ กข. 15  และข้าวเหนียว กข. 6 มาทำการปลูกเพื่อเป็นข้าวนาปรังหวังแค่มีข้าวกินให้ตลอดปี มีข้าวไว้ขายในการดำเนินชีวิต ผลปรากฏว่า ได้ผลผลิตไม่มีความแตกต่าง จากข้าวนาปีเลย ผู้เขียนเฝ้าแอบมองดู พี่น้อง ญาติๆ ทำก็รู้สึกดีว่าทำไมข้าวนาปีถึงนำมาปลูกในนาปรังอีกได้ทั้งที่ไม่ใช่ฤดูกาล ปริมาณช่วงแสงก็ต่างกัน อุณหภูมิในช่วงเดือนก็ต่างกัน  ความยาววันที่มีแสงก็ต่างกัน  ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศก็ต่างกัน แต่ทำไมผลผลิตที่ได้แถบจะไม่แตกต่างจากผลผลิตตามฤดูเลย ผู้เขียนยิ่งคิดยิ่งสงสัย เพราะสิ่งที่เรียนในทฤษฎีกับการปฏิบัติไม่ได้ไปด้วยกัน  ในปี 2544 ผู้เขียนเองก็ได้ ชื้อที่นา ของญาติ ซึ่งเป็นนาที่สามารถทำนาปรังได้ เลยทดลองทำโดยใช้ข้าวขาวดอกมะลิ กข. 105 และ กข. 15 อย่างละ 5 ไร่ และ ทำข้าวเหนียว กข. 6 ประมาณ 2 ไร่ ปรากฏว่า ผลผลิตออกมาก็ไม่แตกต่างกับข้าวนาปีเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้เขียนเกิดความมั่นใจ และคิดอยู่เสมอว่าเราต้องทดลองและทำการวิจัยดูสิว่าได้ผลจริงหรือไม่ จึงได้ให้ความสนใจของพันธุ์ข้าวในการทำนาปรังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ได้เก็บข้อมูล และเริ่มนำจุลินทรีย์อีเอ็ม มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ และทดสอบว่าข้าวมะลิ มาทำนาปรัง ปลูกช่วงไหนหลังทำนาปีให้ผลผลิตสูงที่สุด และวิธีการปลูก  อายุปลูก ออกดอกออกผลเต็ม 100 % จนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต ความสูงของต้นข้าว ความยาวรวง จำนวนรวง  จำนวนระแง้  จำนวนเมล็ด ความหอมเมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาปี และวัชพืชที่เกิดขึ้นช่วงการทำนาปรัง และการเปรียบเทียบกับการทำนาโดยใช้สารเคมี ผู้เขียนได้เผยแพร่หลักการทำนาปรังโดยใช้เทคนิคเกษตรธรรมชาติอีเอ็มในการปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าวมะลิ 105 นาปีมาทำพันธุ์ในนาปรัง  ให้กับเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายในโครงการต้นกล้าอาชีพของ กอ.รมน.ภาค 2 ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้รู้ทั่วกันและออกอากาศจัดรายการวิทยุ ทำให้ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงออกมาคัดค้านว่าทำได้อย่างไร เพราะมันเป็นพันธุ์ข้าวคนละพันธุ์กัน และยังบอกชาวบ้านว่าผู้เขียน  “ลวงโลก”  มันเจ็บปวดมากสำหรับคำพูดคำนี้ แต่ผู้เขียนก็ อโหสิกรรมว่าคนไม่รู้คือคนไม่ผิด เขาอาจเป็นนักวิชาการปลูกข้าวในกระดาษ เพื่อเก็บไว้ห้องแอร์ เพราะเขากลุ่มนั้นเขาไม่เคยทำ เขาก็ไม่รู้ ทำงานตามคำสั่งผู้ที่เป็นเจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชา คิดวิเคราะห์ต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ไม่เป็น
กู้ชาติที่ท้องนา
ปัจจุบันการทำงานของผู้เขียนไม่เคยหวั่นกับปัญหาเลย อยากรู้อะไรทำก่อนปัญหาเอาไว้ทีหลังเพราะคิดเสมอว่าการทำงานต่าง ๆ เจอปัญหาหมด ยิ่งเจอปัญหายิ่งทำให้เราแกร่งและเข้มแข็งที่จะก้าวเดินต่อไปพร้อมกับความสำเร็จและสามารถเป็นจุดยืนให้กับตัวเราเอง จึงได้ขับเคลื่อนกลุ่มมวลชนชาวนาที่พร้อมที่จะเดินแบบไม่หวั่นเกรงกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันกลุ่มมวลชนเครือข่ายของผู้เขียนทำนาปรังโดยการใช้จุลินทรีย์อีเอ็มพอสรุปได้ถึง 2,000 ไร่ อยู่ในเขต จังหวัดศรีสะเกษ , สุรินทร์ ,อุบลราชธานี ,สกลนคร ,อุดรธานี , ยโสธร , นครราชสีมา เป็นต้น
หลักการปลูกข้าวมะลิ 105 ปลูกนาปรัง
จากที่ได้ทำนาปรังด้วยพันธุ์ข้าว มะลิ 105 หลังการทำนาปี โดยใช้ประสบการณ์ตนเอง มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
                1. อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ ถ้าฤดูนาปีใช้อัตรา 15 กก./ ไร่ ฤดูนาปรังควรใช้ 20-23 กก. / ไร่ เพราะในฤดูนาปรังลำต้นข้าวจะเล็กกว่าในนาปี  และเพิ่มจำนวนต้นต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น เพราะช่วงการแตกกอมีช่วงระยะสั้น
                2. เนื่องจากเป็นการทดสอบปีนี้เป็นปีที่ 3 ในการเปรียบเทียบกับการปลูกแบบมะลิ 105 นาปรังเคมี และมะลิ 105 นาปรังอีเอ็ม การทดสอบกับข้าวพันธุ์ ชัยนาท, และข้าวพันธุ์ประทุม, พันธุ์ข้าวเหลืองประทิว โดยพื้นที่ในการปลูกมีไม่ค่อยมากในการทำมะลิ 105 ผลผลิตระหว่างข้าวประทุม ชัยนาท และข้าวขาวมะลิ 105 นาปรังจะอยู่ใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างที่ราคาขาย ต่างกันครึ่งต่อครึ่ง
                3.ระยะที่ให้ผลผลิตสูงสุด คือ ระยะปลูกวันที่ 15 มกราคม 2554  ถ้าปลูกหลังจากนี้ไปผลผลิตจะลดลงตามลำดับ เป็นแนวโน้มว่าการปลูกหลังจากวันที่ 15 มกราคมนั้น ไม่เหมาะสม  เพราะจะประสบกับปัญหาการออกดอกแล้วเจอสภาพอากาศร้อน แต่ปี 2554 ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์- มีนาคม อากาศหนาวข้าวจึงตอบสนองผลผลิตดีเหมือนปลูกในช่วงนาปี แต่ถ้าเจอสภาพอากาศร้อน การผสมเกสรไม่ติด จะมีปัญหาที่ความสมบูรณ์ของเมล็ด
                4. ถ้าปลูกตั้งแต่ 5 มีนาคม 2554 จนถึง เมษายน 2554  ต้นข้าวจะเจริญเติบโตและเข้าสู่สภาวะนาปีตามปกติทั่วไป
                5.  มีการคาดการณ์ว่าในฤดูนาปรัง 2554 ประเทศไทยจะประสบปัญหาอากาศหนาวเย็นมากที่สุดในรอบ 30 ปี อากาศหนาวเย็นจะมีปัญหาให้ต้นข้าวระระกล้าชะงักการเจริญเติบโต แต่ข้าวที่ปลูกด้วยอีเอ็ม โดยการเตรียมดินทุกขั้นตอนตั้งแต่ หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และหว่าน
โบกาฉิ ฉีดพ่นอีเอ็มไถกลบฟาง และปล่อยน้ำเข้าพอปริ่มๆ ช่วยกระตุ้นหญ้างอก ฉีดพ่นอีเอ็มขยายไถกลบหญ้าที่งอก เร่งการย่อยหญ้า แล้วตีปั่นด้วยโรตาลี่ เตรียมเมล็ดที่สมบูรณ์แล้วผ่านน้ำเกลือแช่อีเอ็มขยาย บ่มไว้ให้งอก 1 คืน แล้วหว่านในนาตมทำให้ไม่มีปัญหาในการปลูกข้าวมะลินาปรังในระยะต้นกล้าแต่อย่างใด
                6.  หลังจากข้าวงอกได้ 1 อาทิตย์ฉีดพ่น อีเอ็ม 5 พร้อมฮอร์โมนนมหรือไข่ ช่วยเร่งการเจริญของต้นกล้าและ ปล่อย น้ำเข้านา หยดอีเอ็มทุกครั้ง 1 สัปดาห์ฉีดพ่นอีเอ็มขยายสร้างเซลมวลใบให้แข็งแรง  15 วันฉีดอีเอ็มหมักขี้ปลา หรืออีเอ็มหมักหอยเชอรี่ เพราะโดยปกติข้าวในฤดูนาปรังจะมีอายุตั้งแต่ 81-106 วัน
                7.  ในการปลูกข้าวขาวมะลิ 105 นาปรังควรหว่านด้วยนาตม จะได้ผลดี เพราะข้าวจะแตกกอสม่ำเสมอ ไม่ควร ปักดำ และปลูกโดยวิธีโยนกล้าเพราะช่วงการปลูกระยะสั้นมีการแตกกอหน่อออกมาเรื่อยๆ ทำให้มีข้าวออกหน่อหลายรุ่นหลายชั้น ยากต่อการดูแลและการจัดการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะลดลงในการสรุปผลงานในครั้งนี้ พอที่จะเป็นตัวชี้วัดให้กับเกษตรกร ที่สนใจหันมาปลูกข้าวมะลิ 105 นาปรังเพราะคุณภาพที่ชัดเจนคือได้ราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด โดยฉะเพราะกรมการข้าวที่เน้นนำพันธุ์ไปอาบรังสี เพื่อผลิตเป็นเมล็ดข้าวขาวมะลินาปรังและทดสอบพันธุ์เพื่อทำเป็นเชิงธุรกิจต่อไป
ข้าวกับความไวต่อช่วงแสง
          ความไวต่อช่วงแสง  ระยะความยาวของกลางวัน  มีอิทธิพลต่อการออกดอกของต้นข้าว ดังนั้น พันธุ์ข้าวจึงแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด โดยถือเอาความไวต่อช่วงแสง  หรือ  ระยะความยาวของกลางวัน  เป็นหลัก คือ ข้าวไวต่อช่วงแสง  และ  ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง
1. ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ข้าวพวกนี้ออกดอกเฉพาะเดือนที่มีความยาวของ   กลางวันสั้น ปกติเราถือว่ากลางวันมีความยาว 12 ชั่วโมง และกลางคืนมีความยาว 12 ชั่วโมง ฉะนั้น กลางวันที่มีความยาวน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็น กลางวันสั้น และกลางวันที่มีความยาวมากกว่า 12 ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นวันยาว และพบว่า ข้าวที่ไวต่อช่วงแสงในประเทศไทยมักจะเริ่มสร้างช่อดอกและออกดอกในเดือนที่มีความยาวกลางวันประมาณ 11 ชั่วโมง 40 นาที หรือ  สั้นกว่านี้ ดังนั้น ข้าวที่ออกดอกได้ในเดือนที่มีความยาวของกลางวัน 11 ชั่วโมง 40-50 นาทีจึงได้ชื่อว่า เป็นข้าวที่มีความไวน้อยต่อช่วงแสง และพันธุ์ที่ออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีความยาวของกลางวันประมาณ 11 ชั่วโมง 10-20 นาที ก็ได้ชื่อว่าพันธุ์ที่มีความไวมากต่อช่วงแสง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเรียกข้าว  พืชวันสั้น  พันธุ์ข้าวในประเทศไทยที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสง โดยเฉพาะที่ปลูกเป็นนาเมืองหรือข้าวขึ้นน้ำ
การปลูกข้าวพวกที่ไวต่อช่วงแสงจะต้องปลูกในฤดูนาปี (โดยอาศัยน้ำฝน บางครั้งเรียกว่า ข้าวนาน้ำฝน)  เพราะในฤดูนาปรังกลางวันมีความยาวกว่า 12 ชั่วโมง เดือนที่มีกลางวันสั้นที่สุด ได้แก่  เดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม มกราคม เรียกว่า ข้าวเบา ข้าวที่ออกดอกในเดือนพฤศจิกายน เรียกว่าข้าวกลาง และข้าวที่ออกดอกในเดือนธันวาคม มกราคม เรียกว่า ข้าวหนัก ด้วยเหตุนี้ ข้าวพวกที่ไวต่อช่วงแสงจะออกดอกในเดือนดังกล่าวนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะปลูกในเดือนอะไรก็ตามมันจึงมีระยะการเจริญเติบโตมากพอสมควร    เนื่องจากข้าวพวกไวต่อช่วงแสงจะออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีความยาวของกลางวันที่ต้องการเท่านั้น ข้าวพวกไวต่อช่วงแสงจึงมีประโยชน์สำหรับชาวนาในบางท้องที่ เช่นในจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งหมายความว่า  บางปีฝนก็มาเร็วและบางปีฝนก็มาช้า แต่การสิ้นสุดของฤดูฝนนั่นค่อนข้างแน่นอนปกติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะหมดฤดูฝนในเดือนพฤศจิกายน  เพราะฉะนั้น การปลูกข้าวที่ไวต่อช่วงแสง และเป็น ข้าวเบา หรือ ข้าวกลาง ถึงแม้จะปลูกช้ากว่าปกติ มันก็จะออกดอกให้เก็บเกี่ยวได้ แต่ผลผลิตอาจลด ต่ำลงบ้าง นี่คือข้อดีต่อข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสง
2. ข้าวที่ไม่ไวต่อแสง การออกดอกของข้าวพวกนี้ไมขึ้นอยู่กับความยาวของกลางวัน เมื่อต้นข้าวมีความเจริญเติบโตครบกำหนด ต้นข้าวจะออกดอกทันทีไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้นหรือยาว พันธุ์ข้าว กข. 1 เป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อมีอายุนับจากวันเจริญเติบโตนับจากวันตกกล้าครบ 90-100 วัน ต้นข้าวก็จะออกดอก ฉะนั้นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อแสง จึงใช้ปลูกได้ผลดีทั้งในฤดูนาปรังและนาปี อย่างไรก็ตาม พันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสงมักจะให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกในฤดูนาปรัง
ปกติระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าวทั้งไวและไม่ไวต่อช่วงแสง  แบ่งออกได้ เป็น 2 ระยะดังนี้
                1. ระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น (basic vegetative growth phase) เป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันตกกล้าจนถึงวันที่แตกกอและต้นสูงเต็มที่ ในระยะนี้ต้นข้าวมีการเจริญเติบโตทางความสูงและแตกเป็นหน่อใหม่จำนวนมาก
                2. ระยะการก่อสร้างช่อดอก (pamicle initation phase)  เป็นระยะเวลาที่ต้นข้าวเริ่มสร้างช่อดอกจนถึงรวงข้าวเริ่มโพล่ออกมาให้เห็น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 วัน สำหรับพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง(photoperiod sensitive phase) ดังนั้นข้าวที่ไวต่อช่วงแสงเมื่อได้ครบระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นแล้ว ต้นข้าวที่ไวต่อช่วงแสงเมื่อได้ครบระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นแล้ว ต้นข้าวจะไม่สร้างช่อดอกจนกว่าต้นข้าวจะได้รับช่วงแสงที่มันต้องการ ส่วนข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงจะเริ่มสร้างช่อดอกทันทีหลังจากที่ต้นข้าวได้ครบระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นนั้นแล้ว ดังนั้นการปลูกในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสมจึงทำให้พันธุ์ที่ไวต่อแสงมีเวลามากหรือน้อยเกินไป สำหรับการเจริญเติบโตทางลำต้นโดยเฉพาะการใช้พันธุ์ที่ไวต่อแสงปลูกช้ากว่าปกติจะทำให้ต้นข้าวมีระยะเวลาน้อยไปทำให้ได้ผลผลิตต่ำ
ผลผลิตข้าวนาปรัง ปี 2553 - 2554
เพราะสิ่งแวดล้อมโลกปัจจุบัน ธรรมชาติแปรปรวน เพราะมนุษย์สร้างมลภาวะให้โลกร้อน โลกจึงต้องปรับความสมดุลหนักขึ้น ๆ ทุกปี ชาวนาที่รอทำนาปี ห้วงเดือนตุลาคม ข้าวกำลังตั้งท้องก็เกิดน้ำท่วมนาเสียหาย การปลูกข้าวนาปรังที่ผู้เขียนได้เก็บข้อมูลผลผลิตในหลายพื้นที่ ๆ ปลูกข้าวนาปรัง โดยได้เลือกพันธุ์ข้าวนาปี คือ กข 15 และ ข้าวพันธุ์มะลิ 105 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง คือ ข้าว กข. 15 อายุการเก็บเกี่ยว 93 วัน ให้ผลผลิตได้สูงถึง 1,015  กิโลกรัมต่อไร่ (จากการรวมรวมข้อมูลจากเกษตรกร 2 ปี ในพื้นที่ 678 ไร่) และได้เก็บรวบรวมข้อมูลข้าวมะลิ 105 อายุการเก็บเกี่ยว 100 วัน ในการปลูกข้าวนาปรัง สามารถให้ผลผลิตสูงถึง 962 กิโลกรัมต่อไร่ (จากการเก็บรวบรวมข้อมูลกับเกษตรกร 2 ปี จากพื้นที่ทำนาปรังในพื้นที่ 1,093 ไร่)  ในพื้นที่ใกล้ลำห้วย ในเขตชลประทานคลองน้ำไหลผ่าน หลังทำนาปีที่เกิดน้ำท่วมเสียหายหมดเนื้อหมดตัว ลองใช้ข้าวพันธุ์ กข. 15  และ ข้าวพันธุ์ มะลิ 105 โดยการใช้จุลินทรีย์อีเอ็ม รับรองไม่ผิดหวัง เป็นทางเลือกใหม่ให้กับพี่น้องชาวนาอย่างแน่นอน และยังพบว่าข้าวนาปรังเก็บเกี่ยวแล้ว รากข้าว ต้นข้าวยังเขียวสด ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนจะได้เกี่ยวลูกข้าวที่เกิดใหม่อีกรอบสอง
หมายเหตุ  ต้องการทราบเทคนิคหรือรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 089- 7949426

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ24 เมษายน 2558 เวลา 02:45

    อ.ครัล
    บ ผมอยู่อุดนมีนาปรัง 15 ไร่ ทำข้าวเหนียวก็ลุ่มๆดอนๆจะทำข้าวจ้าวพวก กข ต่างๆอย่าง 41 47 49 โรงสีก็ซื้อแต่ข้าวเหนียว ถ้าใช้มะลิได้อย่างนี้ ปีหน้าผมลุยเลย อันใหนดีกว่ากันครับ 105 กับ 15 เวลาที่เหมาะบางท่านก็ว่า 18 ธค. อ.มีความเห็นไงครับ และใช้ปุ๋ยชีวภาพรองพื้นแทนสูตรอีเอ็ม จะพอแทนกันได้มั้ยครับ

    ตอบลบ