หน้าเว็บ

บทความที่ได้รับความนิยม

11 พฤศจิกายน 2556

เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความมั่นคง ตอนที่ 2 หลักการทรงงาน...ศาสตร์พระราชา

ตอนที่ 2 หลักการทรงงาน...ศาสตร์พระราชา


หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วกันแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรและพระราชอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาต่าง ๆ ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ภาพพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัตินับตั้งแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติในปี 2489 แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทั้งแผ่นดินได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายตรากตรำและมุ่งมั่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกรไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด หรืออยู่ห่างไกลสักเพียงใด ก็มิได้ทรงย่อท้อ เข้าไปช่วยเหลือราษฎรทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเกษตร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และพลังงาน หรือแม้กระทั่งการจราจร ก็ทรงคิดค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างแยบยล
การทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัว และสามารถปฏิบัติได้จริง ทรงมีความละเอียดรอบคอบและทรงคิดค้นหาแนวทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด มีคุณค่า และควรยึดเป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาล นำมาปฏิบัติเพื่อให้บังเกิดผลต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติตลอดไป
หลักการทรงงาน
ข้อที่ 1 จะทำอะไรต้องศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ
อดีตทำอะไรมาบ้าง ทั้งเอกสาร สอบถามเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เช่นงานยาเสพติด ต้องดูข้อมูลให้ลึกซึ้ง ทำไมทำงานไม่สำเร็จ ต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งการพูดคุย การดูตัวเลข แต่อย่าให้ตัวเลขมาหลอกเราได้ ผู้ยิ่งใหญ่เห็นแต่ภาพสวยหรู แท้ที่จริงเละตุ้มเป๊ะ แม้ทำไม่ได้มีปัญหาตัวเลข ก็สวยหรู เพราะมีการคาดโทษ ต้องยอมรับความจริงก่อน แล้วลงมือแก้ไข
ข้อที่ 2 ระเบิดจากภายใน
สร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดความเข้าใจ และอยากทำมิใช่สั่งให้ทำ คนไม่เข้าใจจะไม่ทำ แยกให้ออกระหว่างคุณค่า กับมูลค่า ว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงควรทำ
ข้อที่ 3 แก้ปัญหาจากจุดเล็ก
มองภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ไม่เริ่มทีเดียวใหญ่ ๆ
และควรมองในสิ่งที่มักจะมองข้าม ถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก ให้คิดแก้ปวดหัวก่อน เป็นคำพูดที่ฟังดูตลก แต่ลึกซึ้ง คิดใหญ่ทำเล็ก คิดกว้างทำแคบ คิดละเอียดทำหยาบ ลงมือทำในจุดเล็กๆ ก่อน สำเร็จแล้วจึงค่อยขยาย มิใช่สั่งทำพร้อมกันทั่วประเทศ ดูดี แต่ลงทุนสูงได้ผลน้อย ในที่สุดทุกคนก็จะหมดแรง เพราะมีแต่คนสั่งคนทำมีอยู่ไม่กี่คน


ข้อที่ 4 ทำตามลำดับขั้น
เริ่มทำจากความจำเป็นก่อน สิ่งที่ขาดคือสิ่งที่จำเป็น เช่น ประชาชนต้องแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพก่อน จากนั้นก็ไปแก้ที่สาธารณูปโภค แล้วต่อด้วยการประกอบอาชีพ ถ้าทำเป็นขั้นเป็นตอน ก็จะทำให้สำเร็จได้ง่าย เช่น งานยาเสพติดรักษา --> ส่งเสริม --> ฟื้นฟู -->กลับอยู่ในสังคมปกติ เป็นคนดีของชาติ
ข้อที่ 5 ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์
การทำงานทุกอย่าง ต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ว่า อยู่แถบไหน อากาศเป็นอย่างไร ติดชายแดน ติดทะเล และสังคมของเราเป็นอย่างไร นับถือศาสนาอะไร คนนิสัยใจคอเป็นอย่างไร รวมไปถึงพวกเรากันเองด้วย ถ้าไม่รู้เขารู้เราจะรบชนะได้อย่างไร สั่งทำโครงการทั่วประเทศไม่ได้ ต้องดูเฉพาะพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขออกแบบสถานีอนามัยเหมือนกันทั่วประเทศ บางครั้งก็ไม่ดีนัก
ข้อที่ 6 ทำงานแบบองค์รวม
โดยคิดความเชื่อมโยง ทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง
องค์รวม <-------------> ครบวงจร เชื่อมโยง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เป็นคำพูดที่ฟังแล้วโอเวอร์ไปหน่อย แต่ก็จริง ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวพันกัน แยกออกจากกันโดยเด็ดขาดมิได้
ข้อที่ 7 ไม่ติดตำรา
ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด บางครั้งเรายึดทฤษฎีจนเกินไปทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่เราทำ
บางครั้งต้องโอบอ้อมต่อสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม จิตวิทยาด้วย
ข้อที่ 8 ประหยัด
เรื่องง่ายได้ประโยชน์สูงสุด ทำได้เอง หาได้เองในท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีเรียบง่าย เช่น ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ขึ้นเอง บางครั้งมีพิธีกรรมใหญ่โตผู้ยิ่งใหญ่ทำพิธีปลูกป่า โดยนำรถไถไปไถที่ให้เรียบเพื่อปลูกป่า โดยทำลายต้นไม้ไปมากมาย น่าตลก เรื่องเช่นนี้ยังมีในสังคมไทยมากมาย กรอบแนวคิด Input ----> Process ----> Output ประหยัด เรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด
ข้อที่ 9 ทำให้ง่าย
ทำอะไรให้ง่ายๆ ทำให้ชีวิตง่าย โปรดรับสั่งทำสิ่งยากๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ง่ายๆ นักข่าวชาวฝรั่งเศสถามพระองค์ว่า พระองค์ทรงงานแบบใด ท่านตรัสตอบเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า
“ซิมปลีฟีเย่” ซึ่งภาษาอังกฤษแปลว่า ซิมพลีฟาย(simplify) ภาษาไทยแปลว่า ทำให้ง่าย คนส่วนใหญ่ชวนทำสิ่งง่ายๆ ให้เป็นสิ่งยากๆ ผมบอกเจ้าหน้าที่งานยาเสพติดว่า ถ้าใครโทรศัพท์มาของความช่วยเหลือ ให้ถามเขาคำแรกว่า “คุณจะให้ผมไปหาคุณหรือคุณจะมาหาผมเดี๋ยวนี้”
ข้อที่ 10 การมีส่วนร่วม
เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น หัดทำใจให้หนักแน่น รับฟังความคิดเห็นการรับฟังคือ การเก็บความคิด เราจะประมวลความคิดเพื่อมาใช้ประโยชน์

ข้อ 11 ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม
จากพระราชดำรัส ใครต่อใครชอบบอกให้นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม ให้ส่วนรวมคือการช่วยตัวเองด้วย เพราะเมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์ เราเองก็ได้ประโยชน์ การช่วยกันแก้ปัญหายาเสพติด ส่วนรวมได้ประโยชน์ ลูกหลานเราก็ปลอดภัยจากยาเสพติดด้วยประเทศชาติ อยู่ไม่ได้ อย่าหวังเลยว่าเราจะอยู่ได้
ข้อที่ 12 บริการที่จุดเดียว
วันนี้เราพูด วันสต๊อปเซอร์วิส แต่ในหลวงตรัสไว้เกิน20ปีมาแล้ว ศูนย์ศึกษาพัฒนา 6แห่ง
ทั่วประเทศให้บริการจุดเดียวมากกว่า 20 ปี ใครทันสมัยกันแน่
ข้อที่ 13 ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
มองธรรมชาติให้ออก กักน้ำตามลำธารช่วยให้ป่าสมบูรณ์ช่วยให้ชาวเขามีอาชีพ
เราก็จะลดปัญหายาเสพติดลงไปการช่วยดูแลผู้ติดยา เขาจะไม่กลับไปเสพซ้ำและสามารถกลับมาช่วยเราอีกแรง ทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้นอยู่แบบสมดุล ซึ่งการจะมองปัญหาออกต้องมีใจว่าง ไม่ลำเอียงต้องมีจิตอันพิสุทธิ์
ข้อที่ 14 ใช้อธรรมปราบอธรรม
เอาผักตบชวาที่เป็นปัญหาของเราในประเทศ มากำจัดน้ำเสียเอาปัญหามาช่วยขจัดปัญหา เอาปัญหายาเสพติด มาช่วยพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของคนไทยกันดีกว่าแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองควรจะเฟื่องฟูได้แล้ว
ข้อที่ 15 ปลูกป่าในใจคน
ต้องปลูกป่าที่จิตสำนึกก่อน ต้องให้เห็นคุณค่าก่อนที่จะลงมือทำการดูแลปัญหายาเสพติด ถ้าคนทำหน้าที่นี้ยังทำเพราะเป็นหน้าที่ งานสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าทำด้วยความดีใจที่ได้ช่วยลูกเขาให้กลับคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่ได้เพียงหนึ่งคน ซึ่งคุ้มค่ากว่าได้เงินทองเป็นล้าน แสดงว่าพลังต่อสู้กับยาเสพติดได้เกิดขึ้นในใจของท่านแล้ว จงปลุกสิงโตทองคำในหัวใจให้ตื่นขึ้นมาให้ได้ก่อน
ข้อที่ 16 ขาดทุนคือกำไร
อย่ามองที่กำไรขาดทุนที่เป็นตัวเงินมากจนเกินไป บางครั้งเราได้กำไรจากการขาดทุน ลงทุนมหาศาล ได้ธรรมชาติกลับคืนมา ลงทุนมหาศาลลูกคืนมา ลงทุนมหาศาล ได้คนดีๆ กลับมา ลงทุนมหาศาล ได้ความรู้ไว้คอยช่วยเหลือ
ข้อที่ 17 การพึ่งตนเอง
ในหลวงทรงสอนให้พวกเราพึ่งตนเอง เพราสังคมบริโภคจะเป็นทาสของผู้ผลิต การพึ่งตนเองได้ทำให้ไม่ต้องเป็นทาสใคร เมื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วพยายามพึ่งตนเองให้ได้
ข้อที่ 18 พออยู่พอกิน
พออยู่พอกินก่อน แล้วค่อยพัฒนาเราขอให้บำบัดให้ได้ก่อน==> ประคับประคอง==>
เป็นที่ปรึกษา==>เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
ข้อที่ 19 เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นแนวทางการต่อสู้ รับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก การจัดการกับปัญหายาเสพติด ต้องคำนึงถึงเรื่องความพอดีให้ดีโดยอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ข้อที่ 20 ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน
คนที่มีความรู้มาก แต่โกง สู้คนที่ไม่เก่ง แต่ดีไม่ได้ วีรบุรุษ วีรสตรี คือคุณธรรม ที่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น พวกเราที่ทำงานยาเสพติด คือ วีรบุรุษ วีรสตรีผู้หนึ่ง
ข้อที่ 21 ทำงานอย่างมีความสุข
“ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ ฉันมีแต่ความสุขที่ร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น”ทำอะไรต้องมีความสุขด้วย เพราะศึกครั้งนี้ยาวนาน ถ้าเราทำอย่างไม่มีความสุข จะแพ้แต่ถ้าเรามี ความสุข เราจะชนะ เพียงแต่คนทำงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีความสุข สนุกกับการทำงานเพียงเท่านั้น ถือว่าเราชนะแล้ว
ข้อที่ 22 ความเพียร
กว่า 60 ปีที่ทรงงาน ในหลวงไม่เคยทรงท้อถอย ไม่มีการลาพักร้อนหยุดงานสัก
เวลาเดียว
ข้อที่ 23 รู้ รัก สามัคคี
คิดเพื่องาน
รู้ = ต้องรู้ปัจจัย รู้ปัญหา รู้ทางออก ของปัญหา
รัก = เมื่อรู้แล้ว ต้องเกิดความอยากในทางที่ดีก่อนคือฉันทะเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ภูมิใจ อยากทำ
สามัคคี = ลงมือปฏิบัติ ต้องร่วมมือเพื่อเกิดพลังแยกกันไร้ค่ารวมกันไร้เทียม
คิดเพื่อตัวเราเอง
รู้ = รู้จักทุกคนทั้งหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัวทำอย่างไร จึงจะรู้จักให้ดีได้ รู้จุดอ่อน จุดแข็งโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชา
รัก = เน้นความดี ใส่ใจกันและกันมองกันในแง่ดี
สามัคคี = จึงจะเกิด
ศาสตร์พระราชา
ศาสตร์พระราชา หมายถึงวิชาความรู้ของพระมหากษัตริย์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านด้านการเกษตร จึงขอขยายความเป็น ๔ ศาสตร์ดังนี้.-
ศาสตร์ที่ 1 เรื่อง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดังนี้.-
1.ไม้พอกิน หมายถึง ปลูกพืชเกษตรเพื่อการกินและสมุนไพร
2.ไม้พอใช้สอย หมายถึง ปลูกไม้ไว้ใช้สอยโดยตรงและพลังงาน เช่น ฟืน และไม้ไผ่
3. ไม้พออยู่(ไม้เศรษฐกิจ) หมายถึง ไม้เศรษฐกิจปลูกไว้ทำที่อยู่อาศัยและจำหน่าย

ประโยชน์ 4 อย่าง
1.ไม้พอกิน นำมาเป็นอาหารและยารักษาโรค
2. ไม้ใช้สอย นำมาทำเป็นหัตถกรรม
3. ไม้พออยู่(ไม้เศรษฐกิจ) นำมาสร้างบ้างและจำหน่าย
4. ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ
ประยุกต์เป็นไม้ 7 ระดับ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสมดุลดังนี้.-
1.ไม้ชั้นบน หรือพืชยืนต้น เช่น สักทอง ตะเคียน ยางนา ประดู่ป่า พยุง เป็นต้น
2. ไม้ชั้นกลาง หรือพืชยืนต้น เช่น มะพร้าว ตะแบก เทพทาโร ยมหอม เป็นต้น
3. ไม้ชั้นล่าง หรือพืชยืนต้น เช่น มะนาว มะกรูด ไผ่ (ผลไม้ทุกชนิด)
4. ไม้หน้าดิน หรือพืชหน้าดิน เช่น พืชผักสวนครัว สมุนไพร ไม้ขุดและไม้ล้อม
5. ไม้หัว หรือพืชหน้าดิน เช่น มันฝรั่ง ขมิ้นชัน ขิง ข่า เป็นต้น
6. ไม้เถา หรือพืชเกาะเกี่ยว เช่น ตำลึง กล้วยไม้ อัญชัน เป็นต้น
7. ไม้น้ำ หรือพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ผักกระเชด สายบัว เป็นต้น
ศาสตร์ที่ 2 การเกษตรทฤษฎีใหม่
จากเศรษฐกิจพอเพียงความพออยู่ พอกิน พอใช้ นำไปสู่การพัฒนาขั้นก้าวหน้า ซึ่งสามารถต่อยอดมาสู่การกำหนดราชาพืชได้ และสามารถจัดการระบบตลาดได้ด้วยเกษตรเพียงคนเดียว เกษตรกรก็จะพ้นจากความยากจนเพราะจัดการอย่างสมดุลในแปลงโดยปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์พอดีกัน ทำให้กลไกทางการตลาดขับเคลื่อนจากหน่วยเล็กไปจนถึงระบบใหญ่ ทำให้ค่า GDP ภายในประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย หมดปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ศาสตร์ที่ 3 ศาสตร์แก้มลิง หรือการเก็บกักน้ำ
สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม และยังบริหารจัดการน้ำสำรองไว้ในฤดูแล้งได้อย่างถาวรในพื้นที่ของตนเอง และสามารถเกิดโครงการธนาคารน้ำและธนาคารดินในพื้นที่ได้ สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีแม่น้ำลำคลอง ก็ทำแก้มลิงด้วยการขุดสระในพื้นที่เกษตรกรเก็บน้ำประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่
ศาสตร์ที่ 4 ศาสตร์แกล้งดิน
จากการแกล้งดินด้วยการใช้ปูนมาร์ล ปูนขาว หรือปูนใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาดินเปลี้ยว ดินเค็ม
ก็ประยุกต์ใช้อินทรียวัตถุ (มูลสัตว์ ฟางข้าว เศษพืช) และจุลินทรีย์ เข้าไปแก้ปัญหาดิน น้ำ และการปลูกพืช
รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย เมื่อสภาพดินมีความสมบูรณ์ก็จะเป็นแหล่งผลิตอาหารอันยิ่งใหญ่

---------------------------

ข้อมูลจาก ...สำนักงานคณะกรรมพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมดุลและการพึ่งพาตนเอง “สวนธงไชย ไร่ทักสม” เรื่อง ศาสตร์
พระราชากับการเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถแก้ไขความยากจนได้อย่างยั่งยืน