หน้าเว็บ

บทความที่ได้รับความนิยม

25 กันยายน 2555

แนวคิดและการปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้.-
                1. กรอบแนวคิด  ที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย   สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกในเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา        มุ่งเน้นการรอดจากภัยและวิกฤตเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
                2. คุณลักษณะ  เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับโดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
                3. คำนิยาม   ความพอเพียงจะประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้.-
                     3.1 ความพอประมาณ      หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป       โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
                     3.2 ความมีเหตุผล หมายถึง  การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น  จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล  โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
                     3.3 การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง  การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น  โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ  ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
                4. เงื่อนไข  การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น   ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
                    4.1 เงื่อนไขความรู้  ประกอบด้วย  ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน        เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
                  4.2 เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม  มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร  ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต   ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
                5. แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ   การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้  คือ   การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน  พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี  

 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.),เศรษฐกิจพอเพียง ร่วมเรียนรู้ สานข่าย ขยายผล
นำเสนอโดย  ชมรมเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น