หน้าเว็บ

บทความที่ได้รับความนิยม

16 มกราคม 2555

การแก้ปัญหาอุทกภัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วม

"ภัยธรรมชาติ" ทั้งอุทกภัยและวาตภัยที่ทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในระยะนี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรเสียหายหนัก มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนในหลายจังหวัดตั้งแต่ภาคกลาง ภาคอีสาน จรดภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมแม้จะมีความรุนแรงอย่างหนัก แต่ปริมาณน้ำท่วมขังได้ลดระดับคลี่คลายไปอย่างรวดเร็ว อาทิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นผลอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น หรือ Flood Management ทฤษฎีการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลและความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์
ทฤษฎีแก้ปัญหาน้ำท่วม อันเนื่องมาจาก "พระราชดำริ" ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management) โดยประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตกและปริมาณน้ำฝนสูง จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่ในหลายพื้นที่เกือบทุกภูมิภาค พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิตกห่วงใยในปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และทรงวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งทรงคำนึงถึงการเลือกใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่และสมรรถนะของกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ ตลอดจนงบประมาณและค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สามารถทำได้หลายวิธี คือ
1.               การก่อสร้างคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมแต่โบราณ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสมขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่างๆ ด้านใน เช่น คันกั้นน้ำโครงการมูโนะ และคันกั้นน้ำของโครงการปิเหล็ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
2.               การก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมท้นให้ออกไป โดยการก่อสร้างทางผันน้ำ หรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม โดยให้น้ำไหลไปตามทางผันน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ไปลงลำน้ำสายอื่น หรือระบายออกสู่ทะเลตามความเหมาะสม ซึ่งการดำเนินการสนองพระราชดำริวิธีนี้ คือ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ในการแก้ไขปัญหาจากแม่น้ำโก-ลก เข้ามาท่วมไร่นาของราษฎรเสียหายหลายหมื่นไร่ทุกปี การขุดคลองมูโนะได้ช่วยบรรเทาลงได้เป็นอย่างดี
3.               การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลัก สามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวกหรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขังได้ โดยใช้วิธีการดังนี้
o    ขุดลอกลำน้ำตื้นเขินให้น้ำไหลสะดวกขึ้น
o    ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งให้เรียบไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อทางเดินของน้ำ
o    กำจัดวัชพืช ผักตบชวา และรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลให้ออกไปจนหมดสิ้น
o    หากลำน้ำคดโค้งมาก ให้หาแนวทางขุดคลองใหม่เป็นลำน้ำสายตรงให้น้ำไหลสะดวก
4.               การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญประการหนึ่งในการกักเก็บน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก โดยเก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อนในลักษณะอ่างเก็บน้ำ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการตามพระราชดำริมากมายหลายแห่งในประเทศไทย และการป้องกันน้ำท่วมใหญ่ในระดับประเทศนั้น ขณะนี้ได้อยู่ในระหว่างดำเนินการหลายจุด คือ
o    โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี
o    โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช
o    โครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน จังหวัดนครนายก
โครงการลุ่มน้ำป่าสัก
แก้มลิงคลองมหาชัย
โครงการมูโนะ
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ "แก้มลิง"
จากสภาพธรรมชาติดั้งเดิมของกรุงเทพมหานคร มีลักษณะลุ่มต่ำ ทำให้มีการระบายน้ำยามเกิดภาวะน้ำท่วมให้ออกจากพื้นที่เป็นไปอย่างล่าช้า คูคลองจำนวนมากมีความลาดเทน้อย อีกทั้งมีหลายคลองที่ลำน้ำตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุมกีดขวางทางน้ำไหล ทำให้เกิดเป็นสาเหตุในหลายปัจจัยของการเกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นระยะเวลายาวนาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้มีระบบการบริหารจัดการด้านน้ำท่วม "แก้มลิง" ซึ่งได้พระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า "...ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อนแล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภคและกลืนกินเข้าไปภายหลัง" เปรียบเทียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำไปเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำ อันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
สำหรับลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง แบ่งออกได้เป็น 4 ประการ
1.               ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ลงคลอง พักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ "แก้มลิง" ต่อไป
2.               เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
3.               สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ แก้มลิง นี้ ให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลาส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
4.               เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว (One Way Flow)
ทั้งนี้ หลักการ 3 ข้อที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริ คือ
1.               การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพักและวิธีการชักน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ
2.               เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ
3.               การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง
ลุ่มน้ำปากพนัง
ลุ่มน้ำป่าสัก
จากหลักการข้างต้น การสนองพระราชดำริจึงดำเนินการพิจารณาจากการใช้ลำคลองหนองบึงธรรมชาติ หรือพื้นที่ว่างเปล่า นำมาใช้เป็นบ่อพักน้ำ แหล่งน้ำที่จะนำน้ำเข้าบ่อพักและระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งผลการดำเนินการศึกษาและพิจารณากำหนดรูปแบบของโครงการแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออก-ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากสภาพพื้นที่ทั่วไปแถบนั้นยังไม่มีคันกั้นน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา และคันกั้นน้ำขนานกับชายทะเลแล้ว คลองต่างๆ ที่มีทางน้ำไหลเชื่อมต่อกับชายทะเลแล้ว คลองต่างๆ ที่มีทางน้ำไหลเชื่อมต่อกับชายทะเลก็ยังไม่มีการควบคุมเพียงพอ ดังนั้น เมื่อน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นจึงหมุนไม่ให้น้ำจืดไหลออกจากทะเลหรือไหลออกทะเลได้ช้ามากก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรงหรือท่วมขังนานวัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีต่างๆ คือ
โครงการแก้มลิง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ซึ่งใช้หลักในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ ปิดกั้นไม่ให้น้ำจากด้านท้ายน้ำไหลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูง ถือเป็นโครงการอเนกประสงค์ที่สำคัญยิ่งในอนาคตด้วย นอกจากช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ตอนใต้ทางรถไฟสายใต้มาแล้ว ยังจะช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปในแม่น้ำท่าจีนช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม นอกจากนั้นยังสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภคได้อีกด้วย
โครงการแก้มลิงนับเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัย ที่นำความเดือดร้อนแสนสาหัสมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริ อันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้ ทรงมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า "...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไปเพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่" จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดำเนินตามธรรมชาติ นั้นสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในหลายพื้นที่ให้หมดสิ้นไปได้ในอนาคต

UIH รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และซาบซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพรอบด้านของพระองค์ โครงการพระราชดำริหลายโครงการแสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้อยู่ดีกินดีตามวิถีแห่งความพอเพียงเสมอมา
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิชัยพัฒนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น