หน้าเว็บ

บทความที่ได้รับความนิยม

17 มกราคม 2555

บันไดสี่ขั้น กู้วิกฤตินาล่มด้วยอีเอ็มเทคโนโลยี โดย..อจ.โกวิทย์ ดอกไม้

บันไดสี่ขั้น กู้วิกฤตินาล่มด้วยอีเอ็มเทคโนโลยี
นายโกวิทย์  ดอกไม้
             เมื่อโลกและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป  ฤดูกาลเปลี่ยนไปสัตว์ที่จะดำรงอยู่บนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ต้องปรับตนเองเข้าหาธรรมชาติ อย่าไปฝืนกฎของธรรมชาติ หากไม่ยอมปรับตนเองเข้าหากับธรรมชาติ ปรับตนเองเข้าหาสิ่งแวดใหม่ที่เปลี่ยนแปลง มนุษย์จะสูญพันธุ์ไม่แตกต่างกับไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีที่ผ่านมา เวลานี้ธรรมชาติกำลังบอกให้มนุษย์ใช้ปัญญาเพื่อสามารถดำรงตนให้อยู่รอด ปลอดภัย มีข้าวกิน ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้ มีข้าวกิน เมื่อเจอวิกฤติน้ำท่วมข้าว นาข้าวต้นข้าวไม่เสียหาย  เมื่อน้ำท่วมนาล่มจมอยู่ใต้น้ำ นั่นหมายถึงเงินที่พี่น้องชาวนาลงทุนไปไร่ละ 5,000 บาทกำลังจะจมหายไปกับกระแสน้ำ ถ้าคิดอยากฟื้นฟูนาล่มไม่ให้เสียหายหรือเสียหายเพียงส่วนน้อย ให้สรุปวิเคราะห์ ยื่นมือลงไปช่วยเหลือข้าวที่จมอยู่ใต้น้ำ ด้วยการวางแผนล่วงหน้าของขั้นได 4 ขั้น และทำความเข้าใจตามลำดับดังต่อไปนี้
1.  บันไดสี่ขั้นกู้วิกฤติเมื่อข้าวถูกน้ำท่วม
             ขั้นที่ 1.  ให้ข้าวเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม 1 เดือน
                   ในการดูแลข้าวหลังการปักดำต้อง ดูแลข้าวเรื่องระดับน้ำ และฉีดพ่นที่ใบ 2 ครั้ง คือ เมื่อข้าวมีอายุ 20 วัน และ 60 วันหลังการปักดำ เพื่อให้เกิดการสร้างเซลล์ที่ใบข้าวให้มีเซลล์ใบที่หนาแน่น เพราะช่องเซลล์ปากใบข้าวเปิด (Open Stoma) เซลล์ที่ปากข้าวทำหน้าที่คล้าย ๆ แผงโซล่าเซลล์ที่รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ หากแผงโซล่าเซลล์หลาย ๆ ช่องเซลล์รับแสงจากดวงอาทิตย์หลายอัน เวลาต่ออนุกรมเข้ากันแล้วการผลิตกระแสไฟฟ้า ก็ได้แรงเคลื่อนไฟฟ้าสูง การฉีดพ่นอีเอ็มเข้าที่ใบข้าว 2 ครั้งนี้ก็เพื่อต้องการสร้างเซลล์ใบข้าวให้เกิดเซลล์ที่หนาแน่ยิ่งขึ้น เมื่อเซลล์ที่ใบข้าวหนาแน่นมากเท่าใด กระบวนการปรุงอาหาร การสังเคราะห์แสงของใบข้าวยิ่งทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ข้อสังเกตก่อนการฉีดพ่นคือ ใบข้าวโค้งงอ อ่อนตัวเหมือนใบหญ้าคา หลังจากฉีดพ่นแล้ว ใบที่อ่อนยอดชี้ลงหาดินจะตั้งชี้เข้าหาแสงแดดทุกใบ นี้คือใบที่แข็งแรง เวลาน้ำท่วมข้าวใบข้าวจงจะไม่เน่า เพราะได้สะสมพลังงานก่อนน้ำจะท่วม เหมือนนักกีฬาที่ผ่านการฝึกซ้อมใหญ่ก่อนลงสนามแข่งขันจริง การเอาอีเอ็มไปเกาะที่ใบก่อนน้ำท่วมข้าวใบข้าวจะดึงคลื่นแสงสู่ใต้น้ำหลังน้ำท่วมได้ดี ทำให้ใบข้าวไม่เน่าและปรุงอาหารได้ใต้น้ำ จึงช่วยยึดอายุข้าวที่จมอยู่ใต้น้ำนานหลายวันขึ้น
                   1.1 การเกิด และ การตายของสรีระต้นข้าวคือส่วนที่เกิดเหนือดินของต้นข้าว คือปล้องที่ 1-2-3-4-5-6 และ 7  พร้อมทั้งกาบใบ และ ใบ ก็จะเกิดไปพร้อม ๆ กัน  และใบที่ 7 ใบห่อรวงข้าว หรือใบธงเป็นใบ สุดท้ายที่เกิดทีหลัง กาบใบเปรียบเสมือนองครักษ์ที่ปกป้องคุ้มครองลำต้น ซึ่งปล้อง (Internode) จะมีตาอ่อนที่ปล้อง (Tiller) ให้สามารถเกิดเป็นต้นใหม่ไม่มีแมลงมากินทำลาย เมื่อเมล็ดถึงเวลาเก็บเกี่ยว ถ้าพบว่าใบธงใบสุดท้ายมีปลายใบแห้ง 2-3 เซนติเมตร รวงข้าวก็จะเหลือง อร่ามพร้อมเก็บเกี่ยว เซลล์ของใบข้าวจึงเริ่มตายจากใบที่ 7 (ใบธง) และใบ และ  ปล้องที่ 6-5-4-3-2-1 เซลล์จะค่อย ๆ ตายจากส่วนบนลงสู่ด้านล่าง จากยอดมาถึงโคลนราก (Base of the plant) ตามลำดับ จุดกำเนิดชีวิตหรือคัพภะ (Embryo) หมายถึงการเป็นต้นกำเนิดของส่วนบนคือ “ลำต้น”  ส่วนการกำเนิดสู่ด้านล่างคือ “ราก”  ซึ่งจะเกิดก่อนส่วนใด ๆ ของสรีระในต้นข้าวเซลล์ข้าวส่วนสรีระข้างล่างนี้จะตายสุดท้ายเพื่อน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนป้อนอาหารให้สรีระส่วนอื่นทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ก่อน รากจึงจะเน่าตาย
             ในสภาวะที่ข้าวน้ำท่วม เมื่อข้าวขาดแสงแดด ไม่สามารถปรุงอาหารเพราะขาดแสงแดดนานนับเดือน ใบข้าวและปล้องที่ 7-6-5-4-3-2-1 เซลล์ต่าง ๆ ค่อย ๆ เน่าเปื่อยตายจากบนมาสู่ด้านล่างเช่นกัน เมื่อใบและกาบห่อลำต้นทำหน้ารักษาลำต้นสุดชีวิต เซลล์ใบทุกใบจะค่อย ๆ ตายจากส่วนบนของลำต้นลงมาหาด้านล่าง  ดังนั้นเมื่อน้ำท่วมข้าวอย่าพึ่งตีโพยตีพายว่า ข้าวอยู่ใต้น้ำนานนับเดือนตายหมดแล้ว ไม่เหลือแล้ว เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ในภาวะความเสี่ยงของชาวนากับลมมรสุมปัจจุบัน ควรมาวางแผนว่าจะทำอย่างไร ให้ข้าวสามารถทนอยู่ใต้น้ำนานนับเดือนเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม ถ้าทราบแน่ชัดว่า มรสุมกำลังโหมกระหน่ำ ฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม และ ลาว พี่น้องชาวนา วางแผนช่วยต้นข้าวที่พร้อมจะจมอยู่ใต้น้ำได้ทันที ด้วยอีเอ็มเทคโนโลยี กระทรวงเกษตร ฯ ก็มีของดีรีบบอกพี่น้องชาวนา ระดมปั้น พด. บอล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้มก็งัดเอาดาสต้าบอลออกมา เพื่อเอามาเยียวยาชาวนา บำบัดทุกข์ให้กับพี่น้อง ถ้าข้าวรอดตายหลังน้ำท่วม ปีหน้าฟ้าใหม่ของบจากภาครัฐสนับสนุนต่อไปให้มาก ๆ  หากฟื้นฟูรากข้าวไม่ได้ ต้องกลับไปทำการบ้านใหม่ว่ามือยังไม่ถึง อย่าไปโฆษณาชวนเชื่อให้วิศวะจุฬา ฯ มาออกข่าวโจมตีว่า อีเอ็มทำให้เสียชื่อ เสียหายต่อภาพพจน์ของอีเอ็ม
                   1.2 ฉีดพ่นอีเอ็ม และ ปั้นอีเอ็มมัดบอลให้ข้าวเตรียมสู้น้ำท่วม : หลังฝนทิ้งช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ลม มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะเปลี่ยนทิศทางเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างปลายเดือนนี้เกิดการก่อตัวของลมมรสุมขึ้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ตะวันออกประเทศฟิลิปปินส์  ทิศทางของกระแสลมมุ่งหน้าสู่ภาค เข้าสู่ภาคกลางของประเทศจีน มรสุมที่ก่อตัวลูกใหม่ผ่านอีกสัปดาห์เดียว จะเกิดขึ้นอีกในมหาสมุทรแปซิฟิก จะเข้าภาคเหนือประเทศเวียดนาม ภาคใต้ประเทศจีน และภาคเหนือของประเทศพม่าเล็กน้อย มรสุมลูกที่สามห่างอีกเพียงสัปดาห์เดียวเช่นกัน จะเข้าตรงกลางเวียดนาม เข้าลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือไทย ภาคเหนือประเทศพม่ารับมรสุมลูกนี้ไปเต็ม ๆ  ดังนั้นกลางเดือนสิงหาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคเหนือ รู้ทั้งรู้ว่ามรสุม แต่ลูก หนักห่วง รุนแรง ถี่ขึ้น มวลน้ำมากขึ้น เราจะเตรียมตัวอย่างไรกับนาข้าว ที่ไม่สามารถขนย้ายไปเก็บไว้ในที่สูง ป้องกันน้ำท่วมได้ ก่อนอื่นต้องเรียนรู้การเกิด และการตายของเซลล์ในต้นข้าวก่อน เพื่อทำความเข้าใจก่อนในเบื้องต้น
             เดือนกรกฎาคมทราบแน่นอนว่า มรสุมมาแน่ ท่วมแน่นอน อีก 2-3 สัปดาห์หน้า ระหว่างเดือนสิงหาคมทั้งเดือน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือไม่รอดแน่นอน ดังนั้นชาวนาต้องเร่งฉีดพ่นอีเอ็ม เพื่อให้ใบข้าวสร้างเซลล์ ปรับเซลล์ให้เซลล์ใบหนาแน่นมากขึ้น  ในต้นเดือนกรกฎาคม และกลางเดือนฉีดพ่นอีเอ็มที่ใบข้าว ให้ใบข้าวได้เตรียมความพร้อมสะสมพลังงานแสงเอาไว้มาก ๆ จะได้นำพลังงานไปปรุงอาหารใต้น้ำต่อไป ข้าวคงไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ เพราะเราก็ต้องเตรียมสะสมเสบียงกักตุนไว้เช่นเดียวกัน เมื่อพบภัยพิบัติ หลังจากนั้นให้ใช้เวลาทุกนาทีให้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด คือ ทำโบกาฉิ ปั้นอีเอ็มบอลมัดให้มาก ๆ เตรียมให้ได้  150 กิโลกรัม / ไร่ (4 ก้อน / กิโลกรัม) หรือประมาณ 600 ก้อน / ไร่ พร้อมทั้งขยายอีเอ็มเพื่อเตรียมสาดลงในแปลงนา และเพื่อฉีดพ่นเมื่อน้ำลด อย่างน้อย ๆ ใช้อีเอ็มขยายใส่ขวดน้ำอัดลมใช้ 2 - 4 ลิตร / ไร่ (อีเอ็มขยาย 1 ลิตรผสมน้ำ 200 ลิตร)
             ขั้นที่ 2.  เมื่อมรสุมเข้าเวียดนาม ชาวนาไทย.ต้องเตรียมพร้อม
                   ติดตามความเคลื่อนไหวของความรุนแรงลมมรสุมอย่างใกล้ชิด เมื่อพายุขึ้นฝั่งเวียดนาม มุ่งหน้าสู่ประเทศลาว พายุทำลายสร้างความเสียหายมากมายในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วพายุกำลังมุ่งหน้าสู่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบนตามลำดับ น้ำกำลังเอ่อล้นลำห้วย ลำน้ำน้ำ แม่น้ำ เขื่อนรับน้ำไม่ไหว ร้อยเปอร์เซ็นต์ทราบว่า ข้าวในนาท่วมแน่นอน อีเอ็มมัดบอลที่ปั้นเตรียมไว้จนแห้งสนิทเมื่อเดือนก่อน นำไปโยนรองรับการท่วมของน้ำรอไว้เลย  รากข้าวจะไม่เน่า อีเอ็มบอลที่มีจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จุลินทรีย์ที่เกิดกระบวนการหมักแบบสังเคราะห์ สามารถนำคลื่นแสงลงสู่ใต้น้ำได้ หากน้ำท่วม ประมาณ 40 วัน และข้าวมีอายุ 75 วันขึ้นไป  มีปล้อง 5-6 ปล้อง ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวมีความแข็งแรงมาก ข้าวมีโอกาสรอดตายมาก การวิเคราะห์ว่าข้าวจะรอดตายหรือไม่ ขณะที่น้ำท่วม น้ำต้องใส น้ำไม่ขุ่น มีแสงแดดส่องถึงพื้นดิน เมื่อโยนเงินเหรียญบาทลงไปในน้ำ ต้องมองเห็นเหรียญ ระหว่างที่น้ำท่วมอยู่ต้องหมั่นถอนดูรากข้าวทุกสัปดาห์ หากใบข้าวส่วนบนอาจเปื่อย ต้องแกะดูลำต้นว่า ส่วนที่เป็นโคนต้นต่อกับรากยังสดอยู่ แสดงว่าอีเอ็มสามารถรักษาสรีระลำต้น ดูปล้อง (Node) ของข้าว และ ตาอ่อนที่ปล้อง (Tiller) รากข้าวอาจเปื่อยเน่า แต่โคลนราก (Base of the plant) เอาคัทเตอร์เฉือนยัง  ไม่เน่า ดมดูที่รากยังไม่มีกลิ่นเหม็น การฟื้นฟูข้าวน้ำท่วมยังพอมีทางช่วยได้ ถ้าหากโคนของรากเน่าเปื่อยแล้ว ข้าวที่โดนน้ำท่วมก็ไม่สามารถช่วยได้เลย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ไสยศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ที่ชาวนาต้องเรียนรู้ในภาวะวิกฤติอุทกภัยที่พบได้ทุกปี
             ขั้นที่ 3. แผนฟื้นฟูข้าวที่รอดตายจากการจมน้ำหลังน้ำลด
                   หลังน้ำลดเมื่อลงไปที่แปลงนา เท้าเหยียบดินน้ำร้อนที่เท้า  มีฟองอากาศผุดออกมาจากดิน เป็นฟองก๊าซพิษจากการหมักของฟางข้าว ซึ่งเป็นฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ( H2S)   ก๊าซแอมโมเนีย(NH3) ก๊าซมีเทน (CH4) ต้นข้าวจะเน่าเซลล์ตายทุกส่วน จะเกิดความเสียหายเพียงชั่วข้ามคืน เพราะน้ำไม่ถ่ายเทไหลเวียน จึงเกิดมลภาวะน้ำเป็นพิษทันที คือ ข้าวจะตายเพราะมลพิษจากดินและน้ำเน่าเรียกว่า “อาการเมาตอซัง” ระยะนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ข้าวจะตาย หรือรอดตาย ชาวนาต้องรีบแก้ไขเยียวยาอย่างเร่งด่วน หากพบว่า หลังจากน้ำลดพอมองเห็นใบข้าว มองเห็นคันนา น้ำเริ่มนิ่งไม่ไหล  รีบถอนต้นข้าวมาดู โดยแกะกาบห่อลำต้นดู  หากพบว่ารากข้าว ต้นข้าวเน่าเสียหายก็ทำใจได้ทันทีว่า ฟื้นฟูข้าวไม่ได้ หากพบว่า ต้นข้าวยังไม่เน่า ใบข้าวอาจเปื่อยเน่าเสียหายบางส่วน ส่วนสำคัญของข้าวคือ โคลนราก (Base of the plant) ยังสดไม่เน่า ให้ตัดสินใจลงมือช่วยทันที
             สาดอีเอ็มเข้าไปสลายก๊าซพิษประมาณ 100 ลิตรต่อไร่ (น้ำ 100 ลิตรเติมอีเอ็มขยายครึ่งลิตร) ถ้ายังมีน้ำพอไหลจากแปลงอื่นมาหานาเรา ซึ่งเป็นน้ำเสียมีก๊าซพิษไหลมาด้วยจากนาแปลงอื่น ต้องตั้งถังอีเอ็มหยดที่ต้นน้ำไหลเข้า เพื่อไม่ให้น้ำเสียเกิดขึ้นในนาของเรา เพราะน้ำเสียที่มาจากที่อื่นจะเป็นต้นเหตุให้ข้าวตาย โดยตั้งถัง 200 ลิตรหยดน้ำอีเอ็มขยายตลอด 24 ชั่วโมง (น้ำ 200 ลิตรเติมอีเอ็มขยาย 1 ลิตร) ถังน้ำหยดนี้ทำไปเรื่อย ๆ ขณะมีน้ำไหล  เมื่อน้ำหยุดไหลค่อยเก็บถังกลับบ้าน
             ขั้นที่ 4 แผนฟื้นฟูข้าวหลังน้ำลดได้ 1 สัปดาห์  “มองเห็นต้นข้าว”
                   ระหว่างน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ ต้องมีความแน่ใจว่า รากข้าวไม่เน่า มีราข้าวสีขาวงอกใหม่เพิ่มขึ้นเป็นรากใหม่จากอีเอ็ม แกะดูส่วนกาบห่อลำต้น อาจพบปล้องมีตา (Tiller) ที่ปล้องยังเขียว  มีใบเขียวโผล่ให้เห็นบางส่วนอยู่เหนือน้ำบางส่วนเน่าเสียหาย บางส่วนอาจสีเขียวปะปนกันไป ลงไปแช่เท้าในน้ำ ๆไม่ร้อน ไม่มีฟองก๊าซพิษผุดมาจากดิน น้ำจะเย็นชุมฉ่ำเท้า แสดงว่า อีเอ็มสามารถควบคุมมลพิษในดิน และในน้ำได้  รากข้าวจึงงอกใหม่จะขยายเจริญเติบโตได้ต่อไป ต้องเร่งฟื้นฟู อย่าปล่อยให้เสียโอกาส อีเอ็มที่ขยายไว้ในขวดน้ำอัดลมก่อนหน้านี้ เลือกขวดที่มีแรงดันในขวดมาก ๆ เปิดขวดไม่มีกลิ่นเหม็นเอามาใช้ เตรียมน้ำสะอาด 100 ลิตรเติมอีเอ็มขยายครึ่งขวดฉีดพ่น 1 ไร่ เพื่อเปิดปากใบ (Open Stoma)  และล้างให้ใบข้าวที่หายใจไม่ออกเพราะปากใบปิด (Closed Stoma)เนื่องจากจมอยู่ใต้น้ำมานานไม่สามารถสังเคราะห์แสง ไม่สามารถคายออกซิเจนได้ เซลล์ใบที่อ่อนราบตามดินจะตั้งตรงชูขึ้นรับแสงแดดทันที ให้ฉีดพ่น 2 ครั้ง รออีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ พี่น้องชาวนาจะได้รอการเก็บเกี่ยวด้วยความชื่นชม


2.การฟื้นฟูข้าวตั้งท้องเมื่อถูกน้ำท่วม
             ข้าวนาปีที่อายุ 85 วันขึ้นไปจะมีรวงเกิดขึ้นที่ปล้องที่ 7 เมื่อพบว่าข้าวโดนน้ำท่วมขณะข้าวตั้งท้อง เหมือนผู้หญิงมีครรได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ข้าวจึงล้มเสียหาย แต่พบว่ารากยังไม่เน่า ส่วนรวงที่จมอยู่ใต้ น้ำเน่าเสียหายแน่นนอน หากปล่อยทิ้งไว้ หรือ ฉีดพ่นอีเอ็มต่อจะเกิดลูกข้าวขึ้นใหม่ เกิดเป็นต้นใหม่ (Tiller) ออกตามปล้อง ปล้องที่ 5 ตรงกลางจะงอกออกมาก่อน เกิดรวงเกิดเมล็ดก่อน ปล้องอื่น ๆ ค่อย ๆ งอกตามกันมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงพบปัญหาการเก็บเกี่ยว จะมีรวงแก่ รวงอ่อนเมล็ดข้าวแก่ไม่พร้อมกัน เพื่อตัดปัญหาให้ข้าวเกิดเป็นต้นใหม่พร้อม ๆ กัน ควรตัดตอซังห่างจากพื้นดิน 10-15 เซนติเมตร เมื่อจุดกำเนิดชีวิตข้าวตรงส่วนรากและลำต้น (Advenlitious roots) ยังไม่เน่า จะเกิดเป็นต้นข้าวงอกออกมาใหม่พร้อม ๆ กัน อีกประมาณ 5 สัปดาห์ จะมีรวงให้ได้เก็บเกี่ยวได้ต่อไป
3.การศึกษาวิเคราะห์ข้าวนาปีเมื่อถูกน้ำท่วม
             เพื่อเป็นข้อมูลในการฟื้นฟูต้นข้าว ควรแก้ไขและศึกษาข้อมูลในขณะข้าวที่จมอยู่ใต้น้ำ ก่อนลงมือเข้าไปบำบัดฟื้นฟูข้าวพอที่สรุปรายละเอียดดังนี้
             1. วิเคราะห์อายุการปลูกข้าว คือ
                   1.1 ข้าวอายุ 1-50 วัน ข้าวเมื่อโดนน้ำท่วม 30 วันโอกาสรอดยากมาก เพราะต้นข้าวมีเซลล์ใบที่อ่อนแอ เนื่องจากเซลล์ใบมีชั่วโมงที่สัมผัสกับแสงแดดได้ไม่กี่ชั่วโมง เซลล์ใบที่บอบบางจึงเน่าง่าย (มีลำต้นติดรากอยู่ใต้ดิน ยังไม่มีปล้อง)
                   1.2 ข้าวอายุ 50-70 วัน ข้าวเมื่อโดนน้ำท่วม 30 วันโอกาสรอด 50-70 % เพราะต้นข้าวมีเซลล์ใบเกิดใหม่อ่อนแอ มีกาบห่อลำต้นเน่าบางส่วน (มีข้อสังเกตคือข้าวมีปล้องประมาณ 1-2 ปล้อง)
                   1.3 ข้าวอายุ  70-85 วัน ข้าวเมื่อโดนน้ำท่วม 30 วันโอกาสรอด 100 % เพราะต้นข้าวมีสรีระทุกส่วนที่แข็งแรง (มีข้อสังเกตคือข้าวมีปล้องประมาณ 5-6 ปล้อง) ที่ข้าวแข็งแรงเพราะอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เพราะใบได้สังเคราะห์แสงมานาน จะพร้อมที่จะสร้างรวงได้ต่อไป
                   1.4 ข้าวอายุ 85-120 วัน มีปล้อง 7 ปล้อง ใบ 7 ใบ เป็นระยะข้าวกลมตั้งท้อง – ออกรวงมีใบธงโผล่ ข้าวเมื่อโดนน้ำท่วม 30 วันโอกาสรอด 100 % แต่ต้องมีหลักการฟื้นฟูดังนี้
                         4.1.1 เมื่อพบว่าข้าวที่โดนน้ำท่วม 30 วันแล้ว อายุข้าวกำลังตั้งท้องต้นกลม ข้าวยังยืนต้นหลังน้ำลด ให้สาดอีเอ็มทันทีหลังน้ำลด เพื่อลดพิษน้ำเน่า หรืออาการเมาตอซังตามมา และฉีดพ่นเพื่อเปิดปากใบให้ใบที่อ่อนจะชูตั้งขึ้น ทำให้ต้นข้าวหายใจได้ดีขึ้น โดยฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 7 วัน หากต้นล้มให้ตัดตอซังแล้วพ่นอีเอ็ม หว่านอีเอ็มโบกาฉิ
ข้อสรุปแนวทางคุณสมบัติของอายุต้นข้าว
             สรุปแนวความคิดแบบรวบยอด ที่จะช่วยฟื้นฟูข้าวที่น้ำท่วม ถ้าพบว่ากาบห่อลำต้นเน่า แกะกาบห่อลำต้นไปเรื่อย ๆ พบว่ามีปล้องยังสด ให้ช่วยทันทีอย่ารอช้า แต่เมื่อแกะกาบห่อใบพบว่าลำต้นก็เน่า รากก็เน่าสิ่งกลิ่นเหม็นต้องทำใจว่าช่วยไม่ได้ ถ้าพบว่ามี “รากขาวเหมือนปุยฝ้าย” ทุกอย่างสมบูรณ์ช่วยทันทีโอกาสรอด 100 % คือขอให้ยึดรากและลำต้นใต้ดินเป็นสำคัญ แต่ขอให้สังเกตด้วยว่าต้นข้าวที่ปลูกด้วยปุ๋ยเคมี รากจะดำ กลิ่นเน่าเหม็น มีโอกาสตายสูงมากเมื่อถูกน้ำท่วม
             2. วิเคราะห์คุณสมบัติของปุ๋ยกับรากข้าว
                   2.1 ใช้ปุ๋ยเคมี : ข้าวมีอายุ 1-60 วัน น้ำท่วม 30 วัน กาบใบและใบจะเปื่อยเน่าเหม็น หลังน้ำลด
หากรากและลำต้นใต้ดินยังไม่เน่า “ไม่เป็นสีดำ”  รีบระบายน้ำออกสาดและฉีดพ่นด้วยอีเอ็ม 100 – 200 ลิตร/ไร่ ข้าวมีโอกาสรอดตาย 20 %
                   ข้าวมีอายุ 75 วันขึ้นไป ข้าวจะแข็งแรงมากมีโอกาสรอดที่สามารถช่วยฟื้นฟูได้ 50 %  ถ้ารากมีสีดำ” ดังนั้นชาวนาควรหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะมีเกิดรากสีดำ มีกลิ่นเหม็น แม้ขณะน้ำไม่ท่วมก็ยืนต้นตาย เกิดโรคระบาด หมดโอกาสที่จะที่ฟื้นฟูให้รอดตายได้ยากขึ้น
                   2.2 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ : ข้าวมีอายุ 1-60 วัน น้ำท่วม 30 วัน กาบใบและใบจะเปื่อยเน่าบางส่วน หลังน้ำลด เมื่อรากและลำต้นใต้ดินยังไม่เน่าหรือเน่าบางส่วน “ไม่เป็นสีดำ มีสีน้ำตาลเป็นเส้นแข็ง ไม่มีรากฝอยและรากขนอ่อน”  รีบระบายน้ำออกสาดและฉีดพ่นด้วยอีเอ็ม 100 – 200 ลิตร/ไร่ ข้าวมีโอกาสรอดตาย 50 -70 %
                   ข้าวมีอายุ 75 วันขึ้นไป ข้าวจะแข็งแรงมาก “หลังน้ำลดยังเห็นบางส่วนเขียวที่ยอด” มีโอกาสรอดที่จะสามารถช่วยฟื้นฟูได้ 80 %  ถ้ารากมีสีดำหมด ต้นเน่าเปื่อยหมดโอกาสที่จะที่ฟื้นฟูให้รอดได้ยาก
                   2.3 ใช้ปุ๋ยชีวภาพ : ข้าวมีอายุ 1-60 วัน น้ำท่วม 30 วัน รากขาวปนน้ำตาล ข้าวมีอายุ 1-60 วัน กาบใบและใบสมบูรณ์ไม่เน่า หลังน้ำลดถอนดูรากมีรากขาวปนน้ำตาล  ระบบรากค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่มีรากสีดำไม่เหม็น หลังน้ำลด  รีบระบายน้ำออกสาดและฉีดพ่นด้วยอีเอ็ม 100 – 200 ลิตร/ไร่ ข้าวมีโอกาสรอดตาย 90 % หากพบว่ารากข้าวที่น้ำท่วมมีสีดำแสดงว่าปุ๋ยชีวภาพชนิดนั้น มีส่วนผสมปุ๋ยยูเรีย โอกาสรอดตายจะมีน้อยมาก
                   ข้าวมีอายุ 75 วันขึ้นไป ข้าวจะแข็งแรงมาก “หลังน้ำลดยังเห็นใบไม่เสียหายหรือเสียหายเพียงเล็กน้อย” มีโอกาสรอดที่สามารถช่วยฟื้นฟูได้ 100 % 
                   2.4 ใช้ปุ๋ยชีวภาพ+เคมี : ข้าวมีอายุ 1-60 วัน น้ำท่วม 30 วัน พบรากสีน้ำตาลปนดำ เน่าเหม็นคาวข้าวมีอายุ 1-60 วัน กาบใบและใบสมบูรณ์เน่าบางส่วน หลังน้ำลดถอนดูรากมีรากขาวปนน้ำตาล ระบบรากเน่าบางส่วน หรือมีรากสีดำเหม็น หลังน้ำลด  รีบระบายน้ำออกสาดและฉีดพ่นด้วยอีเอ็ม 100 – 200 ลิตร/ไร่ ข้าวมีโอกาสรอดตาย 50 %
                   ข้าวมีอายุ 75 วันขึ้นไป ข้าวจะแข็งแรงมาก “หลังน้ำลดยังเห็นใบไม่เสียหายหรือเสียหายเพียงเล็กน้อย” มีโอกาสรอดที่สามารถช่วยฟื้นฟูได้ 80 % 
                   2.5 ใช้ปุ๋ยชีวภาพอีเอ็ม : ข้าวมีอายุ 1-60 วัน น้ำท่วม 30 วัน พบรากขาวเหมือนปุยฝ้าย และมีรากขนอ่อนนุ่มคล้ายสำลี ข้าวมีอายุ 1-60 วัน กาบใบและใบสมบูรณ์เน่าบางส่วน หลังน้ำลดถอนดูรากมีรากขาวปนน้ำตาล ระบบรากเน่าบางส่วน อาจมีรากสีดำเหม็น หลังน้ำลด  รีบระบายน้ำออกสาดและฉีดพ่นด้วยอีเอ็ม 100 – 200 ลิตร/ไร่ ข้าวมีโอกาสรอดตาย 30-50 %
                   ข้าวมีอายุ 75 วันขึ้นไป ข้าวจะแข็งแรงมาก พบรากข้าวเหมือนปุยฝ้าย ไม่มีส่วนใดเน่าเสียหาย“หลังน้ำลดยังเห็นใบไม่เสียหายหรือเสียหายเพียงเล็กน้อย” มีโอกาสรอดที่สามารถช่วยฟื้นฟูได้ 100 % 
ข้อสรุปคุณสมบัติของปุ๋ยพบว่า
             1. หลังน้ำลด ข้าวที่มีอายุต่ำกว่า 60 วัน มีโอกาสฟื้นฟูได้ยากมาก เนื่องจากใบข้าวมีเวลาสัมผัสแสงแดดมาน้อยชั่วโมง เมื่อถูกน้ำท่วมกาบและใบข้าวจึงเน่าเสียหายเร็ว ข้าวมีอายุมากกว่า 80 วันมีโอกาสรอดสูงมาก ทั้งข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะอ่อนแอกกว่า ข้าวที่ใช้ปุ๋ยอีเอ็มโบกาฉิ การใช้ปุ๋ยอีเอ็มโบกาฉิจึงฟื้นตัวง่ายกว่าให้ผลผลิตที่สูงกว่า เพราะระบบรากสมบูรณ์กว่า ลำต้นจึงมีภูมิต้านทานเมื่อถูกน้ำท่วม
             2. หลังน้ำลดให้ถอนรากมาดู แกะกาบห่อลำต้นออก ดูส่วนที่เป็นลำต้นยังสดหรือไม่ ถ้าเน่าก็ไม่ควรช่วย ถ้าเน่าบางส่วนควรพิจารณา ถ้ายังสดทั้งลำต้น ราก ใบอาจเสียหายบางส่วนควรรีบช่วยให้อยู่ในดุลพินิจของชาวนาที่จะพัฒนาให้เป็นชาวนาแบบมืออาชีพ
             3. การใช้ปุ๋ยในนาข้าวให้เป็นบทเรียนของชาวนา จากที่ศึกษาพบว่า “ปุ๋ยที่ไม่ดีขณะที่ข้าวยังไม่ตาย รากมีสีดำ” มีรากเหม็นเน่าบางส่วน เกิดโรคเพลี้ยะกระโดด  เพลี้ยไฟ หนอนม้วนใบ โรคใบไหม้ รากเน่า โคนเน่า ยืนต้นตาย ฯลฯ ข้าวที่เกิดจากปุ๋ยแบบนี้ พอโดนน้ำท่วมก็คงบอกคำเดียวว่าไม่รอด
             ดังนั้นปุ๋ยที่ทำให้เกิดรากสีดำนั้นควรพอกันที หยุดกันเสียที “แม้กระทั่งน้ำยังไม่ท่วมมันยังจะเอาตัวไม่รอด” ใช้ปุ๋ยอะไรก็ได้ที่สร้างระบบรากให้เป็นสีขาวนุ่มมีรากฝอยและรากขนอ่อนเหมือนปุยฝ้ายและมีกลิ่นหอม จะทำให้ต้นข้าวแข็งแรง แม้น้ำท่วมนานนับเดือนก็ไม่หวั่นไหว จึงขอให้ชาวนาถอนดูรากข้าวเมื่อ “ข้าวมีอายุ 1 เดือน  2 เดือน  3 เดือน และ ถอนตอซังดูรากหลังการเก็บเกี่ยว” ว่านาแปลงใดปลูกแล้วมีรากสีขาวเหมือนปุยฝ้าย แล้วจึงตามให้ถึงผู้ผลิต  ซื้อมาใช้ไม่ผิดหวังแน่นอน เพราะข้าวในนาแปลงนั้นจะได้ผลผลิตไร่ละ 1,000 กิโลกรัมแน่นอน
4. วิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพของดินที่ปลูกข้าว
             4.1 รากข้าวแข็งเป็นเสี้ยน : มีรากฝอยน้อย รากขนอ่อนไม่มี ข้าวไม่มีการแตกกอ ระบบรากข้าวหากินจากแนวดิ่ง “น้ำไม่ท่วมข้าวก็รากดำ” ข้าวไม่แตกกอ หนึ่งกอไม่เกิน 10 รวง ข้าวนาปี 1 รวงไม่เกิน 7-8 ระแง้ และไม่เกิน 270 เมล็ด ผลผลิตไม่เกิน 400 กิโลกรัม / ไร่ (ข้าวมะลิ 105) เมื่อดมดินหรือดมรากข้าวมีกลิ่น เหม็น เดินลงไปในนาเหยียบดินมีฟองก๊าซไข่เน่าผุดขึ้นมา กลิ่นเหม็นโชยเข้าจมูก มีข้าวยืนต้นตายเป็นหย่อม ๆ เมื่อน้ำท่วมไม่เกิน 7 วันรากจะเน่าทันทีเกิดการแพร่เชื้อโรคอย่างรวดเร็ว คือ เกิดพิษในดิน - พิษในน้ำ เรียกอาการนี้ว่า “โรคเมาตอซัง” (Akiochi) ซึ่งจะเป็นฉนวนทำให้เกษตรกรติดเชื้อโรค Melioidosis ข้าวเกิดเพลี้ยะกระโดด หนอนม้วนใบ ใบไหม้สีน้ำตาล ไหม้คอรวง ฯลฯ สาเหตุเพราะดินที่ใช้ปุ๋ยเคมีมากเกิน 30 ปีขึ้นไป จะฟื้นฟูเยียวยาข้าวที่โดนน้ำท่วมได้ยากมาก  เพราะดินป่วย น้ำป่วย ข้าวป่วย ไม่มีทางรอด เมื่อน้ำไม่ท่วมข้าวก็จะยืนต้นตายอยู่แล้ว ทางแก้ของชาวนาคือ ต้องป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมนาเท่านั้นจึงจะช่วยได้ แต่ก็เป็นวิธีที่สุดวิสัย นึกว่าได้ทำบาปกรรมต่อแผ่นดินก็แล้วกัน ผู้ที่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีจึงต้องรับกรรมกันไปตามระเบียบ
             4.2 การวิเคราะห์วัชพืชที่เกิดก่อนและหลังน้ำท่วม : หรือ เกิดหลังการเก็บเกี่ยว วัชพืชในนาเป็นต้นเล็ก ๆ รากสั้น “ใบแคบ-แหลม-เรียวเล็ก” วัชพืชบางชนิดได้สร้างปมไว้ที่ใต้ดินเป็นที่สะสมพลังงานอาหาร เช่น หญ้าหวาย เป็นต้น เพื่อหลบหลีกภาวะไฟไหม้ฟางหน้าแล้ง โลกร้อน ยาฆ่าหญ้า แล้วแต่ท้องถิ่น วัชพืชจะมีลำต้นแข็งเป็นเสี้ยน มีสีน้ำตาล วัว ควายไม่กิน เพราะแข็งเป็นพืชไม่อวบน้ำ แม้แต่ฟางข้าวที่นวดเสร็จหลังการเก็บเกี่ยวเอามือไปสัมผัสจะแข็งเป็นเสี้ยน นำฟางไปเพาะเห็ดฟางไม่เกิดเห็ด คุณสมบัติทางกายภาพของดิน ดินจะแข็งอัดแน่น ไม่มีไส้เดือนเกิดหลังการเก็บเกี่ยว จึงไม่สามารถหมุนเวียนเอาออกซิเจนลงไปหมุนเวียนสู่ใต้ดินได้ ใต้ผิวดินจึงสะสมด้วยเชื้อโรคร้ายนา ๆ ชนิด เป็นสาเหตุให้ข้าวที่เกิดในนาไม่มีภูมิต้านทาน เพราะน้ำไม่ท่วมข้าวก็จะตายอยู่แล้ว เมื่อน้ำท่วมคงช่วยได้ยาก
             4.3 การวิเคราะห์รากข้าวขาวเหมือนปุยฝ้าย : นิ่มมือคล้ายสำลี  มีขุยเล็กละเอียดเหมือนใยไหมจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากคุณสมบัติของปุ๋ยชีวภาพหมักกับซากตอซัง และซากหญ้าพืชสดที่ไถกลบ แล้วเกิดกระบวนการหมักแบบสังเคราะห์ คือหมักแล้วมีกลิ่นหอมที่ดิน ข้าวจึงแตกกอดีมาก ข้าว 1 กอมีรวง 30-50 รวง ระบบรากหาอาหารที่ผิวดินเป็นแนวกว้างไม่ลงลึก ข้าวที่เกิดในดินประเภทนี้จะไม่เกิดโรค จึงแข็งแรง ข้าวนาปีน้ำท่วมนานนับเดือนโอกาสฟื้นตัวรอดตายสูงมาก   และให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 1,200 กิโลกรัม ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยกับข้าวนาปีทุกสายพันธุ์ ข้าวที่เกิดขึ้นในดินประเภทนี้จะมีภูมิต้านทานจากราเห็ดฟาง เพราะปุ๋ยที่ดีจะต้องเกิดรา Fungal hyphae  ซึ่งเป็นการพึ่งพาราเห็ดฟางในต้นข้าว เมื่อปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพทำให้ฟางข้าวเกิดราเห็ดฟางในลำต้น ต้นข้าวจะแข็งแรง เหมือนเชื้อเห็ดฟางเป็นวัคซีนให้กับต้นข้าว ที่เป็นการอาศัยแบบพึงพากันระหว่างราเห็ดฟางกับต้นข้าว  การพึงพาอาศัยกันนี้เรียกว่าเอนโดไมคอร์ไรซ่า ( Endomycorrhiza)  จะเกิดในพื้นนาที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพคุณภาพดีพิเศษเท่านั้น ปุ๋ยหมักอีเอ็มคือปุ๋ยที่ทำให้ข้าวมีคุณสมบัติดังกล่าว แต่มีปุ๋ยชีวภาพมีมากมายในท้องตลาดชาวไร่ชาวนาไม่อยากโดนหลอกต้องเป็นปราชญ์ชาวนาที่ตาถึง การแสดงความเป็นปราชญ์ของชาวนา คือ เมื่อถอนรากขึ้นมาดู รากข้าวมีคุณสมบัติข้างต้น รากข้าวมีกลิ่นหอม ดินมีกลิ่นหอมเมื่อใช้ติดต่อกันนานหลายปี คุณสมบัติข้าวที่นำไปหุงอยู่ได้ 2-3 วันโดยไม่บูด ฯ
                   วัชพืชที่เกิดก่อนและหลังน้ำท่วมในดินแบบดังกล่าว หรือ เกิดหลังการเก็บเกี่ยว ดินมีความชื้นสูงมาก มีไส้เดือน มีรูปู กบ เขียดอาศัยอยู่มาก วัชพืชที่เกิดเป็นพืชอวบน้ำส่วนใหญ่หลังการเก็บเกี่ยวใหม่ ๆ จะมีพวกพืชสมุนไพรที่เป็นอาหารได้ทั้งมนุษย์และสัตว์เลี้ยงในท้องนา วัชพืชที่เกิด เช่น ผักอีฮีน ผักแว่น ผักโหบเฮบ (พืชใบกว้างในนาข้าวซึ่งย่อยสลายเองเป็นปุ๋ยพืชสดที่เกิดหลังปักดำ) หลังเก็บเกี่ยวจะเกิดผักแกงขม ผัก แกงส้ม ผักโขม ผักกาดนา และหญ้างวงช้างจะเกิดหลังฟางยุบสลาย ผู้เขียนจำได้สมัยเมื่อเป็นเด็กหลังไปขุดกบ เขียด ปูในท้องนาจะมีผักเหล่านี้เกิดในท้องนาเสมอ เมื่อได้กบ เขียด ก็เก็บผักตามท้องนากลับบ้านไปทำแกงอ่อมกิน และบ้านของสัตว์เหล่านี้เป็นรู จึงเป็นพาหะดึงอากาศออกซิเจนลงสู่ใต้ดิน เมื่อออกซิเจนหมุนเวียนถึงใต้ดิน เชื้อโรคจึงไม่สามารถหลบซ่อนอยู่ใต้ดินได้ เพราะออกซิเจนคือก๊าซวิเศษที่เราได้รับแล้วเกิดความสดชื่น เป็นสิ่งที่พระเจ้า หรือ องค์อัลเลาะห์ทรงประทานมาคู่โลก เพื่อ ฆ่าเชื้อโรคร้ายต่าง ๆ นั่นเอง ดินจึงโปร่งร่วนซุย เพื่อสร้างความแข็งแรงให้รากข้าว  ข้าวที่เกิดอยู่ในดินนี้จึงจะมีความแข็งแรงของระบบรากด้วย แม้เกิดอุทกภัยจากน้ำท่วม จึงไม่ไหวหวั่น จากที่ผู้เขียนเข้าไปสัมผัสพบว่า ข้าวนาปีอายุ 75 วัน น้ำท่วม 1 เดือนต้นข้าวยังยืนต้นอยู่ได้ ใช้อีเอ็มฉีดพ่นฟื้นฟูจึงไม่ใช่เรื่องยากเลย ปุ๋ยชีวภาพชนิดอื่นอย่าได้น้อยใจ จงนำไปทดลองศึกษา มีเรื่องดี ๆ เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เล่าสู่กันฟัง ผู้ผลิตปุ๋ยใช้กับนาข้าวให้ยึดถือพี่น้องชาวไร่ชาวนาเป็นสำคัญ ปุ๋ยชนิดนั้น ๆ เกษตรกรจะเป็นผู้ตัดสินพิพากษาเอง วันเวลาชาวนาจะพิสูจน์คุณภาพปุ๋ยที่จำหน่ายในท้องตลาดเอง
5. วิเคราะห์คุณสมบัติน้ำที่ท่วมข้าว
             5.1 น้ำที่ท่วมข้าว เป็น น้ำใส มีการไหลหมุนเวียน มีแดดส่องถึงพื้น ข้าวที่โดนน้ำท่วมมีโอกาสรอด และสามารถฟื้นฟูได้ง่าย (เครื่องวัดคือ เหล็กสีขาวผูกเชือกหย่อนลงในน้ำ)
             5.2 น้ำที่ท่วมข้าว เป็น น้ำขุ่น มีดินตะกอนโคนตมเกาะที่ใบ แต่มีไหลหมุนเวียน ไม่มีแดดส่องถึงพื้น ข้าวที่โดนน้ำท่วมมีโอกาสรอดได้น้อย และสามารถฟื้นฟูได้ค่อนข้างยาก
             5.3 น้ำที่ท่วมข้าว เป็น น้ำใสหรือน้ำขุ่น น้ำนิ่งไม่มีการไหวหมุนเวียน โดยเฉพาะแดดร้อน ๆ กลางวัน น้ำนิ่งขุ่น ดินและน้ำจะเป็นพิษรุนแรง ที่เรียกว่า การเมาตอซัง ข้าวจะเน่าเปื่อยเร็วมาก แต่อย่าห่วงจุลินทรีย์อีเอ็มสามารถทำให้น้ำขุ่นเป็นน้ำใส ทำให้พิษในดินและในน้ำมีค่า ph เป็นกลาง รากข้าวทนต่อสภาพน้ำท่วมได้
6. วิเคราะห์การช่วยเหลือข้าวน้ำท่วมต้องทำงานแข่งกับเวลา
             การเข้าไปบำบัดฟื้นฟูข้าวที่โดนน้ำท่วม ระยะแรกเหมือนกับคนไข้ได้รับอุบัติเหตุใหม่ ๆ  ซึ่งถ้าเป็นคนไข้ที่ได้รับอุบัติเหตุแล้ว จะรอช้าเอาคนไข้นั่งเกวียนไปโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะทุกนาทีคือการยืดชีวิตให้กับต้นข้าวบอบช้ำน้อยที่สุด เช่น
             6.1 ข้าวโดนน้ำท่วม ไม่เกิน 10 วัน เข้าไปช่วยเหลือทันที แม้ข้าวที่ลำต้นยังอ่อนก็สามารถช่วยฟื้นฟูได้
             6.2 ข้าวโดนน้ำท่วม ไม่เกิน 20 – 30 – 40 – 50 วัน โอกาสที่ต้นข้าวอ่อนแอเหมือนคนป่วยเลี้ยงไข้อยู่ในอาการหนักขึ้นตามลำดับ จึงไม่ควรรอช้า รีบยื่นมือเข้าไปช่วยฟื้นฟูทันทีก่อนที่ทุกอย่างยังไม่สายเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเมื่อน้ำท่วมนาน ๆ พบว่า ข้าวที่รอดตายคือข้าวที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพคุณภาพดีเท่านั้น และมีรากขาวเหมือนปุ๋ยฝ้ายจึงจะสามารถบำบัดฟื้นฟูได้ 100 % สำหรับข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีมีรากดำ หากจุดกำเนิดรากยังไม่เน่า อีเอ็มจะสร้างขาวใหม่ให้กับต้นข้าว ข้าวปลูกด้วยปุ๋ยเคมีจึงจะรอดตาย
             6.3 การฟื้นฟูข้าวน้ำท่วมหลังน้ำลด  เป็นวิธีสุดท้ายที่ได้ผลน้อยมาก มีภาวะความเสี่ยงต่อการบอบช้ำของต้นข้าวสูงมาก เพราะโดนน้ำท่วมมานาน ขาดการสังเคราะห์แสง ขาดอากาศหายใจ  ขาดการปรุงอาหารนานนับเดือน จึงทำให้ให้ข้าวฟื้นตัวได้ช้ามาก เช่น เมื่อเห็นคนได้รับอุบัติเหตุร้ายแรง รอนับวันประกันพรุ่งอาจช้าไป  เมื่อเห็นน้ำท่วมข้าวจะนิ่งดูดายรอน้ำลดก่อนอาจสายเกินการแก้ไขเยียวยา
7.  อีเอ็ม และ อีเอ็มมัดบอล (EM mud ball) ช่วยฟื้นฟูข้าวน้ำท่วม
             ไม่อยากโฆษณาว่าให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพชนิดไหนดี แต่ที่ กอ.ป่าดงนาทาม ฯ ทำมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 และผู้เขียนอยู่ในวงการเกษตรอินทรีย์ และเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ล้มลุกคลุกคานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เวลานับ 30 ปีที่อยู่วงการภาคเกษตรย่อมรู้ดีว่าความยั่งยืนภาคการเกษตรที่ยั่งยืนคืออะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น การใช้ปุ๋ยหมักอีเอ็มไถกลบฟาง ที่ผู้เขียนต่อสู้กับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ที่อีเอ็มยังไม่เข้ามาประเทศไทย เกิดความยั่งยืนหรือไม่ ให้วันเวลาเป็นสิ่งพิสูจน์เทคนิคการปลูกข้าวที่ทำให้ต้นแข็งแรง เกิดรากขาวเหมือนปุยฝ้ายจริงหรือไม่ ผู้ใช้ ผู้สัมผัสได้ทำด้วยมือ จะรู้ดี หากมีปุ๋ยชีวภาพชนิดใดก็ได้ ที่ในแกลลอนมีจุลินทรีย์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ชอบอากาศ และ ไม่ชอบอากาศ (ผลิตโดย บริษัทเอ็มโรเอเชีย จำกัด)ในกระบวนการหมัก เป็นโอกาสที่จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวแก้วิกฤตินาล่ม 11 ล้านไร่ในปี พ.ศ. 2554 ขณะนี้ กับพื้นที่ถูกน้ำท่วม ให้กลับฟื้นฟูได้ เพราะเงินของชาวนาที่จมอยู่ไต้กระแสน้ำกว่าห้าแสนล้านบาทจมหายไปกับกรแสน้ำลงอ่าวไทย เริ่มจากการทำการทำอีเอ็มโบกาฉิ หรือ  การทำอีเอ็มแห้ง หว่านหลังเก็บเกี่ยว ไถกลบฟาง แล้วทำอีเอ็มมัดบอล (EM mud Ball) แล้วนำไปใช้ทันทีเมื่อน้ำท่วม ทุกอย่างแก้ไขได้
             7.1 ผลที่เกิดหลังการใช้ ประโยชน์และการนำไปใช้
                   EM mud Ball  เป็นชื่อสากล ความหมายคือเอาอีเอ็มโบกาฉิหรืออีเอ็มแห้งไปปั้นกับดินโคลน เพื่อให้โบกาฉิจมลงสู่ใต้น้ำเพื่อรักษารากข้าว มวลดินก้อนจึงมีจุลินทรีย์อีเอ็มมีจำนวนประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยงกุ้ง  บ่อเลี้ยงปลา  แหล่งน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อีเอ็มจะย่อยก๊าชแอมโมเนีย  ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์จนเป็นน้ำที่สะอาดจากก้นบ่อ  โดยปริมาณน้ำเสีย 10  ลูกบาศก์เมตร  จะใช้อีเอ็มบอลประมาณ 2-5 ก้อน  เมื่อโยนอีเอ็มบอลลงในนาข้าวที่ถูกน้ำท่วม จะเกิดผลขึ้นดังนี้
             7.1 ทำให้น้ำที่ขุ่นใสขึ้น จนแสงแดดส่องถึงพื้นดินได้ ทำให้ข้าวสามารถปรุงอาหารด้วยการสังเคราะห์แสงได้ใต้น้ำ ซึ่งจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจะทำหน้าที่ดึงพลังงานแสงสู่ใต้น้ำได้
             7.2 อาการเมาตอซังที่เกิดจากน้ำท่วมฟางข้าวเน่ามลพิษหลังน้ำลด ฟางข้าวเน่า 500 ก.ก. /ไร่ จึงมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ( H2S)  ก๊าซแอมโมเนีย(NH3) ก๊าซมีเทน (CH4) ปริมาณมาก อีเอ็มบอลสามารถย่อยสลายก๊าซดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดน้ำในนาข้าวใสสะอาด บริสุทธิ์ เปลี่ยนเป็นน้ำดีจนสะอาด  H2O ได้
             7.3 ปริมาณการใช้อีเอ็มมัดบอล ใช้อัตราส่วนประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ก็เหตุปัจจัยที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ควรพิจารณา กรณี เช่น น้ำลึก น้ำตื้น น้ำขุ่น น้ำไหล น้ำนิ่ง ให้โยนอีเอ็มบอลลงไปจนกว่า มองเห็นดิน ที่สามารถมองเห็นดินโคนต้นข้าว  เพราะลงทุนค่าอีเอ็มบอลฟื้นฟูนาข้าวใช้อัตราประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่  200 บาท
8.  แผนยุทธศาสตร์ สู้ภัยน้ำท่วมข้าวจากบทเรียนในอดีต
             ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เหตุของการก่อตัวของพายุได้เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านปีมาแล้ว กล่าวคือเมื่อต้นฝน ชาวนาไทยได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ คือเกิดการก่อตัวของลมมรสุมพัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย ไม่มีผลต่อการเกิดน้ำท่วม แต่เมื่อย่างเข้าเดือนกรกฎาคม ลมมรสุมจะเปลี่ยนทิศทาง คือจะเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มรสุมจะก่อตัวขึ้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นก่อนถึงปลายฤดูฝนมรสุมนี้ได้ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมที่รุนแรงทุกปี นับวันที่จะรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนา สิ้นเนื้อประดาตัว หากไม่มีแผนที่เตรียมการไว้ล่วงหน้า เพราะลมมรสุมที่ก่อตัวเริ่มจากการแสดงอิทธิพลที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศจีน แล้วแผ่อิทธิพลเข้าไปหาส่วนกลางประเทศจีนแล้วสลายตัวไป ดังนั้นเดือนสิงหาคม – กันยายน – ตุลาคม – พฤศจิกายน – ธันวาคม อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก จะค่อย ๆ ก่อตัวเคลื่อนลงต่ำเรื่อย ๆ เช่น ในเดือนสิงหาคม เวียดนาม ลาว ภาคอีสานตอนบน ภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบจากมรสุมนี้ทุกปี ในเดือนกันยายน อิทธิพลของลมมรสุมจะเริ่มก่อตัวขึ้นใหม่ ทำให้พื้นที่เวียดนาม ลาว ภาคอีสาน ภาคกลาง รับอิทธิพลลมมรสุมไป เต็ม ๆ ตลอดกว่า 6 เดือน และอิทธิพลลมมรสุมเกิดใหม่ มีชื่อใหม่อาทิตย์ละลูกสองลูก ประเทศไทยรับไปเต็มจะไปสิ้นสุดที่ด้ามขวาน ประมาณเดือนธันวาคม ต่อปีหน้าฟ้าใหม่ เมื่อรู้ว่าลมมรสุมมาทุกปี มีอิทธิพลต่อประเทศไทยอยู่ที่ 5-6 เดือน เราจะแก้วิกฤตินี้อย่างไร ฝากนักวิชาออกมาจากห้องแอร์ มาช่วยผมทำวิจัย ฝากผู้นำรัฐบาล ฝากผู้นำฝ่ายค้านมาช่วยแก้ปัญหาให้ชาวนา ให้ชาวนาได้มีรอยยิ้มเมื่อน้ำลด ดีกว่าแจกข้าวห่อ แจกเมล็ดพันธุ์พืชผัก เมื่อน้ำลดภาครัฐไม่แจกข้าวห่อแล้ว ชาวนาจะกินอะไร....
            หมายเหตุ  ฉบับหน้า โปรดติดตาม การฟื้นฟูข้าวน้ำท่วม  “ขอนแก่นโมเดล”  โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กองทัพภาคที่ 2 พล..วิบูลย์พงศ์ กลั่นเสนาะ รองแม่ทัพภาคที่ 2 

หมายเหตุ
             บทความนี้สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ห้ามคัดลอกส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อตีพิมพ์โฆษณาเผยแพร่  หากต้องการนำไปตีพิมพ์ โปรดขออนุญาตก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น